เจาะลึกประวัติ โตริโน่ กระทิงหินแห่งเซเรียอา

เจาะลึกประวัติ โตริโน่ กระทิงหินแห่งเซเรียอา

สโมสรฟุตบอลโตริโน่ (Torino Football Club) หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม โตริโน่ คือทีมฟุตบอลอาชีพที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใน เมืองตูริน แคว้นปีเอมอนเต้ ประเทศอิตาลี ทีมเจ้าของฉายา “อิล โตโร่” (Il Toro) หรือ “กระทิงหิน” ในบ้านเรา ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 1906 และถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของอิตาลี จากการคว้าแชมป์ลีกสูงสุดทั้งหมด 7 ครั้งซึ่งรวมถึงการเป็นแชมป์ 5 สมัยติดต่อกัน จนกลายเป็นที่มาของสมญานามในขณะนั้นว่า “Grande Torino” ที่ถูกยกย่องว่าเป็นหนึ่งในทีมที่ยอดเยี่ยมที่สุดของยุคปี 40 ก่อนที่นักเตะชุดนั้นจะพบจุดจบพร้อมกันใน โศกนาฏกรรมซูแปร์กา จากเหตุทัศนะวิสัยอันเลวร้ายจนทำให้เครื่องบินรุ่น Fiat G.212 ที่มีผู้โดยสารเป็นผู้เล่นทีมชุดใหญ่และสตาฟฟ์โค้ชของ โตริโน่ รวมถึงผู้สื่อข่าวและลูกเรือทั้งหมด 31 รายพุ่งเข้าชนกำแพงทางด้านหลังของ มหาวิหารซูแปร์กา ที่อยู่ตรงบริเวณยอดเขาของเมืองตูรินจนเสียชีวิตยกลำ พวกเขายังเคยคว้าแชมป์ โคปปา อิตาเลีย 5 สมัย ซึ่งหนสุดท้ายก็ต้องย้อนกลับไปยังฤดูกาล 1992-93 ส่วนในรายการระดับนานาชาติก็เคยได้แชมป์ มิโตรปา คัพ รายการถ้วยยุโรปเก่าแก่เมื่อปี 1991 ก่อนจะสามารถคว้าถ้วย ยูฟ่า คัพ ได้ในปี 1992 โตริโน่ ลงเตะเกมในบ้านที่สนามเหย้า สตาดิโอ โอลิมปิโก กรันเด โตริโน่ หรือที่รู้จักกันในนาม สตาดิโอ คอมมูนาเล่ มาจนถึงปี 2006 ที่สามารถรองรับผู้ชมได้เป็นจำนวน 27,958 ที่นั่ง พวกเขาใช้สีน้ำตาลอมแดง (maroon) เป็นสีประจำสโมสรและมีสัญลักษณ์เป็นรูปวัวกระทิงที่ยังเป็นสัญลักษณ์ดั้งเดิมของเมืองตูรินอีกด้วย

โตริโน่ ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 1906

ไทม์ไลน์ประวัติสโมสร

1887 – เกมลูกหนังเริ่มเดินทางเข้าสู่เมืองตูรินเป็นครั้งแรกในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยเริ่มจากกลุ่มชนชาว อังกฤษ และ สวิส จนกระทั่งในปีนั้น สโมสรฟุตบอลและคริกเก็ต ก็ถูกก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองหลวงของแคว้นปิเอมอนเต้

1889 – สโมสร Nobili Torino เปิดตัวตามมาติดๆใน 2 ปีให้หลัง

1891 – ทั้งสองสโมสรรวมตัวกันภายใต้ชื่อ Internazionale Torino

1894 – Foot-Ball Club Torinese เปิดตัวตามขึ้นมาอีกทีมภายในปีนั้น พร้อมกับความนิยมอันแพร่หลายของเกมลูกหนังในช่วงเวลาต่อมา จนทำให้สโมสรกีฬา Ginnastica Torino และ ยูเวนตุส เปิดตัวแผนกฟุตบอลขึ้นมาอย่างเป็นทางการ

1898 – จากการจับมือกันระหว่าง Foot-Ball Club Torinese, Ginnastica Torino และ สโมสรฟุตบอลเจนัว ก็ได้ร่วมกันก่อตั้งรายการฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติขึ้นมา

1900 – Foot-Ball Club Torinese ตัดสินใจรวมตัวกับ Internazionale Torino

1906 – จนกระทั่งวันที่ 3 ธันวาคม 1906 ด้วยการรวมตัวของกลุ่มสมาชิกที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของ ยูเวนตุส ภายใต้การนำของ อัลเฟร็ด ดิ๊ก นักบัญชีชาวสวิส ก็ได้ผนวกกลุ่มของพวกเขาเข้ากับ Foot-Ball Club Torinese จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Torino Football Club และลงสนามประเดิมแมตช์แรกในวันที่ 16 ธันวาคมปีนั้นด้วยการถล่ม โปร แวร์เชลลี่ 3-1

1907 – หลังจากนั้นไม่นาน ดาร์บี้แห่งเมืองตูริน หนแรกก็เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มกราคม 1907 โดยที่พวกเขาเป็นฝ่ายเฉือนเอาชนะ ยูเวนตุส 2-1 ก่อนที่ทีมจะย้ำแค้นเพิ่มได้อีกด้วยสกอร์ 4-1 ในนัดต่อมา จนผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายในระดับประเทศและได้ตำแหน่งรองแชมป์ถัดจาก เอซี มิลาน

1908 – ในฤดูกาลต่อมา โตริโน่ ไม่ได้เข้าร่วมแข่งขันในรายการลีกสูงสุดของประเทศ หรือที่มีชื่อเรียกกันในเวลานั้นว่า ปรีม่า คาเตกอเรีย เนื่องจากติดกฎข้อบังคับจำนวนผู้เล่นต่างชาติที่เกินกว่ากำหนด จนทำให้หันไปลงเตะในทัวร์นาเมนต์ระดับรองอีก 2 รายการ และสามารถคว้าแชมป์ Palla Dapples ได้จากการเอาชนะ โปร แวร์เชลลี่ ในนัดชิง และยังลงเตะในรายการระดับนานาชาติที่เมืองตูรินรับเป็นเจ้าภาพภายในปีนั้น โดยได้อันดับที่สองรองจาก เซอร์เวตต์ ทีมจากสวิตเซอร์แลนด์

1915 – พวกเขาพลาดโอกาสลุ้นแชมป์ที่ยังมีความเป็นไปได้อยู่เนื่องจากฤดูกาล 1914-15 ถูกรวบรัดตัดตอนเสียก่อนเนื่องจากภาวะ สงครามครั้งที่ 1 โดยที่ทีมอยู่ในฐานะอันดับที่ 2 รองจาก เจนัว และมีแต้มตามหลังอยู่เพียง 2 คะแนน นอกจากนี้ทีมยังมีโอกาสลงเตะกับ เจนัว อีกครั้งหลังจากที่เคยถล่มทีมจ่าฝูงมาแล้ว 6-1 ในการพบกันครั้งแรก

1920 – หลังสงครามสิ้นสุดลงและเกมลีกกลับมาลงเตะกันอีกครั้ง พวกเขายังคงรักษาฟอร์มเก่งเอาไว้ได้ และผ่านเข้าสู่มินิลีกรอบรองชนะเลิศแต่ก็จอดป้ายอยู่เพียงแค่รอบนั้น

1922 – ระหว่างช่วงรอยต่อของวงการลูกหนังภายใน อิตาลี ที่มีการแตกตัวลีกสูงสุดออกเป็น 2 รายการ กระทิงหิน ตัดสินใจลงแข่งใน ปรีม่า ดีวีซีโอเน่ รายการที่เกิดขึ้นใหม่ภายใต้การดูแลของ Confederazione Calcistica Italiana ที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกับ สหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี (FIGC) โดยที่ทีมจบฤดูกาลแรกในตำแหน่งครึ่งล่างของตารางแบบเงียบๆ

1923 – พวกเขาทำผลงานได้ดีขึ้นจากการเป็นที่ 2 ของลีกภูมิภาคทางตอนเหนือรองจาก โปร แวร์เชลลี่ แต่ก็ยังไม่ดีเพียงพอต่อการผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายในระดับประเทศ

1924 – เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกับปีที่ผ่านมาแต่ต่างตรงที่ทีมตกเป็นที่สองรองจาก โบโลญญ่า

เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกับปีที่ผ่านมาแต่ต่างตรงที่ทีมตกเป็นที่สอง

1926 – แม้จะตกเป็นที่ 2 รองจาก โบโลญญ่า ในการแข่งขันภายในลีกทางตอนเหนือ แต่ก็ยังเป็นโอกาสที่พวกเขาจะได้ลงเล่นใน ดีวีซีโอเน่ นัซซิโอนาเล่ ลีกสูงสุดของประเทศที่ทั้ง 2 สมาคมกลับมารวมตัวกันอีกครั้งในฤดูกาลถัดไป

1927 – อิล โตโร่ สัมผัสบรรยากาศแห่งความสำเร็จเป็นครั้งแรกภายใต้การบริหารงานของ ท่านเคานต์ เอ็นริโก้ มาโรเน่ ชินซาโน่ ประธานสโมสรในยุคนั้นที่ยังเป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างสนามเหย้า สตาดิโอ ฟิลาเดเฟีย ซึ่งจากฟอร์มอันสุดฮอทของสามประสาน จูลิโอ ลิบอนัตติ,อดอลโฟ่ บาลอนชิเอรี่ และ จิโน่ รอสเซ็ตติ ภายใต้สมญานาม “Trio delle meraviglie” หรือ “สามประสานมหัศจรรย์” ก็ช่วยให้พวกเขาคว้าแชมป์ สคูเด็ตโต้ ได้เป็นครั้งแรกจากการถล่ม โบโลญญ่า 5-0 ในนัดชิงชนะเลิศ แต่หลังจากนั้นในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน FIGC ก็ได้ยกเลิกสถานะแชมป์ของพวกเขาเนื่องจากถูกตรวจพบคดีพัวพันเกี่ยวกับการล็อคผลการแข่งขัน

1928 – โตริโน่ มาประเดิมคว้าแชมป์ลีกสูงสุดอย่างเป็นทางการได้ในซีซั่นต่อมา จาก “สามประสานมหัศจรรย์” ที่ช่วยกันกระหน่ำรวมกัน 89 ประตูตลอดทั้งฤดูกาล 1927-28 โดยหลังจากเสมอ 2-2 กับ เอซี มิลาน ในนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ก็ทำให้พวกเขามีแต้มสูงสุดจากบรรดา 8 ทีมในมินิลีกรอบชิงชนะเลิศ

1929 – พวกเขาผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศในระดับประเทศได้เป็นปีที่สองติดต่อกันจากการเป็นแชมป์กลุ่ม A แต่กลับพลาดโอกาสป้องกันแชมป์ด้วยการพ่ายแพ้ให้กับ โบโลญญ่า 1-0 ในนัดชิงชนะเลิศ ในขณะที่ยังมีโอกาสเป็นหนึ่งในทีมที่ได้ร่วมสถาปนา เซเรีย อา ลีกสูงสุดเวอร์ชั่นใหม่ภายในฤดูกาลหน้า

1930 – กระทิงหิน จบฤดูกาลแรกในซีซั่นเปิดตัว เซเรีย อา อย่างเป็นทางการด้วยอันดับที่ 4 พร้อมกับผลงานที่ค่อยๆถดถอยลงหลังจากนั้นจนกลายเป็นทีมที่มักจะอยู่ในพื้นที่กลางตาราง

1935 – ในปีนั้นทีมต้องพยายามดิ้นรนอย่างสุดชีวิตเพื่อหนีการตกชั้น ก่อนจะอยู่รอดปลอดภัยใน เซเรีย อา ได้แบบหวุดหวิด จากการมีคะแนนมากกว่า ลิวอร์โน่ ทีมที่ร่วงลงไปเพียงแค่แต้มเดียว

1936 – แต่แล้วในฤดูกาลถัดมาพวกเขากลับพาตัวเองดีดขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 3 หลังจบ 30 นัดในซีซั่น 1935-36 และยังสามารถผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ โคปปา อิตาเลีย ได้เป็นครั้งแรกก่อนจะเป็นฝ่ายเอาชนะ อเลสซานเดรีย 5-1 จนครองแชมป์รายการนี้ได้เป็นสมัยแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ ลัทธิฟาสซิสต์ ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการปกครองของประเทศจนทำให้สโมสรตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเป็น Associazione Calcio Torino และเริ่มใช้งานเป็นครั้งแรกในฤดูกาลถัดไป

1938 – โตริโน่ ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ อิตาเลียน คัพ ได้เป็นหนที่ 2 ในรอบ 3 ปี โดยในคราวนี้คู่แข่งของพวกเขาคือ ยูเวนตุส ที่ต้องชิงชัยกันในแบบเหย้าเยือน ซึ่งพวกเขาก็ตกเป็นฝ่ายปราชัยให้กับทีมคู่ปรับร่วมเมืองด้วยผลรวม 5-2

1939 – ทีมกลับมามีลุ้นแชมป์ เซเรีย อา อีกครั้งจากการทำคะแนนไล่เบียดมากับ โบโลญญ่า ก่อนจะคว้าอันดับที่ 2 โดยมีคะแนนตามหลังทีมแชมป์อยู่ 4 แต้ม ภายใต้การชี้นำอันชาญฉลาดของ แอร์นู แอร์บสไตน์ ผู้อำนวยการด้านเทคนิคชาวฮังกาเรียน

1940 – แม้พวกเขาจะจบฤดูกาล 1939-40 ด้วยอันดับที่ 5 แต่ก็มีจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นกับสโมสรจากการเข้ามาของ แฟร์รุชชิโอ โนโว่ ประธานสโมสรคนใหม่ที่เข้ามาช่วยซัพพอร์ทสถานะทางการเงินรวมถึงการบริหารจัดการที่ชาญฉลาด เคียงข้างกับขุมกำลังนักเตะภายในทีมทั้ง อันโตนิโอ ยานนี่, จาชินโต้ เอลเลน่า และ มาริโอ สเปโรนี่ ที่ทำให้เขาสามารถสร้างทีมที่ยิ่งใหญ่ภายใต้ชื่อ “Grande Torino” ได้ในเวลาต่อมา

1942 – สัญญาณแห่งความสำเร็จเริ่มมองเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเริ่มจากการที่พวกเขาทำแต้มตามหลัง โรม่า ทีมแชมป์มาติดๆเพียงแค่ 3 คะแนนในฤดูกาล 1941-42

1943 – ปฐมบทแห่งความยิ่งใหญ่ของ “Grande Torino” เปิดฉากด้วยการทำแต้มเบียดลุ้นตำแหน่งจ่าฝูงมากับ ลิวอร์โน่ ก่อนจะบุกไปสยบ บารี่ 1-0 ในนัดปิดฤดูกาลจนเป็นฝ่ายคว้าแชมป์ สคูเด็ตโต้ สมัยที่ 2 ได้สำเร็จโดยมีคะแนนเฉือนคู่แข่งสำคัญไปเพียงแค่แต้มเดียว นอกจากนี้พวกเขายังคว้าดับเบิ้ลแชมป์ได้เป็นสมัยแรกจากการถล่ม เวเนเซีย 4-0 ในนัดชิงชนะเลิศ โคปปา อิตาเลีย ก่อนจะว่างเว้นจากการแข่งขัน เซเรีย อา ไปเป็นเวลา 2 ปีเนื่องจาก สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อุบัติขึ้น

1946 – ภายในฤดูกาลแรกหลังจากกลับมาลงเตะกันอีกครั้ง โตริโน่ สามารถป้องกันแชมป์ได้สำเร็จ เมื่อต้องลงแข่งขันใน เซเรีย อา ที่มีรูปแบบพิเศษจากการแบ่งออกไป 2 ลีกย่อยที่มีทีมอันดับต้นๆจาก เซเรีย บี ในช่วงก่อนจะหยุดการแข่งขันไป 2 ปีเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งหลังจากการเป็นแชมป์ของกลุ่ม A ทีมก็ไปลงฟาดแข้งในมินิลีกรอบสุดท้ายที่มีทั้งหมด 8 ทีมก่อนจะเข้าป้ายเป็นที่ 1 โดยมีคะแนนเฉือน ยูเวนตุส เพียงแค่แต้มเดียว

1947 – อิล โตโร่ คว้าแชมป์ เซเรีย อา ได้เป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน หลังทำคะแนนทิ้งห่าง ยูเวนตุส ทีมอันดับ 2 ไปไกลถึง 10 คะแนน พร้อมๆกับที่ วาเลนติโน่ มัซโซล่า ดาวยิงตัวเก่งของทีมครองตำแหน่งดาวซัลโวด้วยผลงาน 29 ประตู

อิล โตโร่ คว้าแชมป์ เซเรีย อา ได้เป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน

1948 – พวกเขายังโชว์ฟอร์มร้อนแรงแบบฉุดไม่อยู่จากการนำม้วนเดียวจบและทำแต้มทิ้งห่าง เอซี มิลาน ทีมอันดับ 2 แบบไม่เห็นฝุ่น 16 คะแนน โดยในระหว่างซีซั่นก็ยังสร้างสถิติเอาชนะเกมในบ้านได้มากที่สุด 10-0 เหนือ อเลสซานเดรีย ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม

1949 – หลังออกทัวร์ระหว่างปรีซีซั่นที่ บราซิล พร้อมกับความพ่ายแพ้แค่นัดเดียวจากโปรแกรมอุ่นเครื่องทั้งหมด กระทิงหิน กลับมาเดินหน้าตามล่าแชมป์เป็นสมัยที่ 5 ติดต่อกัน โดยหลังจากรั้งตำแหน่งจ่าฝูงร่วมกับ เจนัว ในช่วงครึ่งฤดูกาลแรก ทีมกลับมาเร่งเครื่องและทำคะแนนทิ้งห่าง อินเตอร์ มิลาน ที่ตามมาติดๆเป็น 6 คะแนนและเหลือเพียง 4 แต้มในขณะที่ยังเหลือการแข่งขันอีก 4 นัด ก่อนที่ทีมจะออกเดินทางไปลงเตะแมตช์กระชับมิตรกับ เบนฟิก้า ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่พ่ายให้กับเจ้าบ้านไป 4-3 จนกระทั่งวันที่ 4 พฤษภาคม 1949 ที่วงจรความยิ่งใหญ่ของ “Grande Torino” จะถูกตัดจบลงกะทันหันแบบสุดช็อค เมื่อเที่ยวบินที่กำลังนำพานักเตะทีมชุดใหญ่, สตาฟฟ์โค้ช, นักข่าวและลูกเรือรวมทั้งหมด 31 รายมุ่งหน้ากลับบ้าน ต้องเผชิญหน้ากับสภาวะอากาศที่เลวร้ายในขณะที่กำลังลดระดับเพื่อลงจอด โดยที่ไม่มีใครคาดคิดนักบินที่ต้องอาศัยการบังคับทิศทางด้วยตนเองท่ามกลางทัศนะวิสัยที่ค่อนข้างจำกัดกลับนำเครื่องพุ่งเข้าชนกำแพงด้านหลังของ มหาวิหารซูแปร์กา ที่อยู่บนเนินเขาสูง 669 เมตรจากระดับน้ำทะเล จนเกิดระเบิดสนั่นหวั่นไหวและไม่มีผู้ใดที่รอดชีวิต หลังเกิดเหตุ วิตตอริโอ ปอซโซ่ อดีตกุนซือทีมชาติอิตาลี ถูกตามตัวมาแยกแยะศพของนักเตะ เนื่องจากเขาคือผู้ที่ใกล้ชิดกับคนกลุ่มนี้มากที่สุดจากในช่วงเวลาที่ผ่านมาผู้เล่นของ โตริโน่ คือขุมกำลังสำคัญของ ทัพอัซซูร์รี่ จนถึงขนาดที่ครั้งหนึ่งเคยมีนักเตะจาก โตริโน่ ลงสนามเป็นตัวจริงในเกมทีมชาติ 10 จาก 11 ตำแหน่ง โดยที่ FIGC ได้ตัดสินมอบแชมป์ในฤดูกาล 1948-49 ให้กับ โตริโน่ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ที่จากไป ในขณะที่ทีมก็ส่งนักเตะชุดเยาวชนลงแข่งขันใน 4 นัดที่เหลือ ก่อนที่ประชาชนเกือบล้านคนจะมาเข้าร่วมในพิธีฝังศพที่เมืองตูริน

1950 – ทีมยังคงรับมือกับสถานการณ์อาฟเตอร์ช็อคได้ดีจากการพาตัวเองจบในอันดับที่ 6 ในฤดูกาลหลังความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่

1952 – แต่หลังจากนั้นพวกเขาต้องพยายามดิ้นรนหนีตกชั้นอยู่ 2 ฤดูกาลติดจากการทำแต้มอยู่เหนือทีมที่ร่วงลงไปอย่าง โรม่า ในปี 1951 เพียงแค่ 2 คะแนน และ ลุคเคเซ่ เพียงคะแนนเดียวในปีนั้น

1959 – ทั้งๆที่พึ่งทำแต้มลอยลำอยู่ในครึ่งบนของตารางมาได้ตลอด 2 ปีหลังสุด แต่จู่ๆในฤดูกาล 1958-59 ทีมกลับโชว์ฟอร์มหลุดออกทะเลไปไกลจนจมอยู่ในตำแหน่งบ๊วย โดยมีแต้มเท่ากับ ตริเอสติน่า ทีมที่ร่วงลงสู่ เซเรีย บี ไปพร้อมกัน

1960 – หลังใช้เวลาเพียงแค่ปีเดียวพวกเขาก็กลับเลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุดของประเทศได้สำเร็จ จากการคว้าแชมป์ เซเรีย บี เป็นสมัยแรก

1961 – ทีมอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องดิ้นรนหนีตายหลังกลับมาสู่ เซเรีย อา อีกครั้ง ก่อนการชนะ 2 เสมอ 1 ใน 3 นัดสุดท้ายจะช่วยให้พวกเขาลอยลำอยู่เหนือโซนตกชั้นแบบหวุดหวิด

1963 – แม้ อิล โตโร่ จะจบซีซั่น 1962-63 ด้วยการอยู่ในพื้นที่กลางตาราง แต่พวกเขาก็สามารถผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ โคปปา อิตาเลีย ที่ต้องดวลกับ อตาลันต้า ก่อนจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไป 3-1 หลังจากปิดฤดูกาล ออร์เฟโอ ปิโอเนลลี่ ก็ก้าวเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานสโมสรคนใหม่ และได้แต่งตั้ง เนเรโอ ร็อคโค่ ให้มาเป็นเฮดโค้ชพร้อมเซ็นสัญญากับ จีจี้ เมโรนี่ เข้ามาร่วมทีม

1964 – ในฤดูกาลนั้นพวกเขาได้ผ่านเข้าชิงในถ้วย อิตาเลียน คัพ เป็นปีที่สองติดต่อกัน ที่จบลงด้วยผลเสมอ 0-0 กับ โรม่า ในสนาม สตาดิโอ โอลิมปิโก ที่ กรุงโรม ก่อนจะมาลงเตะนัดรีเพลย์ที่ สตาดิโอ คอมมูนาเล่ บ้านของตนเองแต่กลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไป 1-0

1965 – ทีมทำผลงานได้ดีขึ้นหลังขยับขึ้นมาจอดป้ายในอันดับที่ 3 โดยเป็นรองเพียง 2 ทีมดังจากเมืองมิลาน และเนื่องจาก โรม่า แชมป์บอลถ้วยในซีซั่นก่อนเลือกลงเตะในรายการ อินเตอร์ ซิตี้ส์ แฟร์ส คัพ จึงทำให้พวกเขาได้ลงแข่งขันในรายการ ยูฟ่า คัพ วินเนอร์ส คัพ ที่ไปได้ไกลจนถึงรอบตัดเชือก ก่อนจะพ่ายให้กับ 1860 มิวนิค ในการลงเตะเกมเพลย์ออฟเพื่อหาผู้เข้าชิง

1968 – หลังออกสตาร์ทฤดูกาล 1967-68 ได้ไม่นานก็มีเรื่องน่าสลดขึ้นอีกครั้ง โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคมหลังจากจบเกมในบ้านที่ไล่ต้อน ซามพ์โดเรีย 4-2 จีจี้ เมโรนี่ ปีกทีมชาติอิตาลีที่อาจกำลังอยู่ในอารมณ์หงุดหงิดจากการถูกไล่ออกในนัดล่าสุดเกิดโดนรถชนเสียชีวิต หลังเดินข้ามถนนแบบเงอะๆงะๆในตัวเมืองร่วมกับกลุ่มเพื่อนของตนเองและ ฟาบริซิโอ โปเล็ตติ เพื่อนร่วมทีม อย่างไรก็ตามสโมสรก็ได้รับรางวัลปลอบใจจากการคว้าแชมป์ โคปปา อิตาเลีย ได้เป็นสมัยที่ 3 ในปีนั้น

1970 – โตริโน่ ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ อิตาเลียน คัพ เป็นหนที่ 2 ในรอบ 3 ปี ก่อนที่ โบโลญญ่า จะเป็นฝ่ายได้แชมป์ไปครอง

1971 – ทีมผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายในรายการ โคปปา อิตาเลีย เป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 4 ปี และเนื่องจากการแข่งขันใช้ระบบมินิลีกกับ 4 ทีมสุดท้ายในช่วงเวลานั้น จึงทำให้ทีมต้องไปฟาดแข้งตัดสินกับ เอซี มิลาน ที่ สตาดิโอ ลุยจิ แฟร์ราริส เมืองเจนัว หลังจากมีแต้มเท่ากัน โดยที่เกมยืดเยื้อไปจนถึงการดวลจุดโทษก่อนที่ โตริโน่ จะเป็นฝ่ายแม่นเป้ากว่าจนคว้าแชมป์สมัยที่ 4 ในรายการนี้ไปครองได้สำเร็จ

1972 – หลังโชว์ฟอร์มเก่งในบอลถ้วยได้ 2 ปีติดต่อกัน พวกเขาก็พัฒนาผลงานในลีกขึ้นมาควบคู่ไปด้วยจากการเข้าป้ายเป็นอันดับที่ 3 โดยมีคะแนนเท่ากับ เอซี มิลาน และเป็นรองจาก ยูเวนตุส ทีมแชมป์ที่ห่างกันเพียงแค่แต้มเดียว

1976 – หลังจากพยายามเกาะอยู่ในกลุ่มหัวตารางมาโดยตลอด ในที่สุด ลุยจิ ราดิเช่ กุนซือป้ายแดงที่พึ่งย้ายมาจาก กายารี่ ก็พาทีมฉกฉวยโอกาสในฤดูกาลที่ ยูเวนตุส ฟอร์มแผ่วลงไป จากที่เป็นฝ่ายตามหลังอยู่ 5 คะแนนในช่วงฤดูใบไม้ผลิ แต่ด้วยความพ่ายแพ้ 3 นัดรวดของ ยูเว่ ก็ทำให้ทีมกลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบ จนกระทั่งนัดปิดฤดูกาลที่พวกเขายังคงนำอยู่ 1 แต้มก่อนจะทำได้เพียงเสมอในบ้านกับ เชเซน่า 1-1 แต่ฝั่งทีมคู่ปรับร่วมเมืองกลับบุกไปพ่ายให้กับ เปรูจา 1-0 จนทำให้ โตริโน่ คว้าแชมป์ สคูเด็ตโต้ ได้เป็นสมัยแรกหลังผ่านไป 27 ปีนับจาก โศกนาฏกรรมซูแปร์กา ในขณะที่ เปาโล ปูลิชี่ ดาวยิงตัวเก่งของทีมก็ยังคว้าตำแหน่งดาวซัลโวได้จากผลงาน 21 ประตู

1977 – ราดิเช่ พาทีมเดินหน้าในฤดูกาลป้องกันแชมป์ด้วยการขับเคี่ยวกับ ยูเวนตุส ได้อย่างสูสี ก่อนจะตกเป็นรองทีมคู่แข่งร่วมเมืองเพียงแค่แต้มเดียวหลังจบ 30 นัดในซีซั่น 1976-77 โดยที่ ฟรานเชสโก้ กราเซียนี่ หัวหอกทีมชาติอิตาลีของพวกเขาจะได้ตำแหน่งดาวซัลโวจากการซัดไปทั้งหมด 21 ประตู

1978 – อิล โตโร่ ยังรักษามาตรฐานระดับสูงเอาไว้ได้จากการจบเป็นอันดับ 3 โดยมีแต้มเท่ากับ วิเซนซ่า ที่ทำผลงานในการพบกันได้ดีกว่าและยังมีลูกได้เสียมากกว่าจากฟอร์มอันร้อนแรงของ เปาโล รอสซี่ ที่สามารถคว้าตำแหน่งดาวซัลโวไปครอง และเป็นรอง ยูเวนตุส ทีมแชมป์อยู่ 5 คะแนน

1980 – ทีมผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ โคปปา อิตาเลีย โดยโคจรมาพบกับ โรม่า ก่อนจะจบ 120 นาทีด้วยสกอร์ 0-0 จนต้องดวลจุดโทษตัดสิน ซึ่ง หมาป่าแห่งกรุงโรม ก็เป็นฝ่ายคว้าแชมป์ไปครอง

1981 – พวกเขาทะลุเข้าชิง อิตาเลียน คัพ ได้เป็นปีที่สองติดต่อกันด้วยการเผชิญหน้ากับ โรม่า คู่ปรับเก่าในการแข่งขันแบบเหย้าเยือน โดยเริ่มจากบุกไปยันเสมอ 1-1 ที่ กรุงโรม จากการทำเข้าประตูตัวเองของ แซร์จิโอ ซานตารินี่ กองหลังทีมเจ้าถิ่น ก่อนจะมาเจ๊ากันด้วยสกอร์เดิมที่ ตูริน ตั้งแต่ช่วง 45 นาทีแรก จนกระทั่งจบช่วงต่อเวลาพิเศษและต้องชี้ขาดด้วยการดวลจุดโทษอีกครั้ง ซึ่งพวกเขาก็ต้องผิดหวังซ้ำสองหลังยิงเข้าเพียงแค่ 2 คนในขณะที่คู่แข่งยิงพลาดไปเพียงแค่คนเดียว

1982 – กระทิงหิน สามารถผ่านเข้าชิงชนะเลิศในรายการ โคปปา อิตาเลีย เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน และบุกไปพ่ายให้กับ อินเตอร์ มิลาน 1-0 ในนัดแรก ก่อนจะกลับมาทำได้แค่เสมอ 1-1 ในบ้านตนเองจนเป็นฝ่ายที่ต้องน้ำตาตก 3 ปีซ้อน

1985 – ลุยจิ ราดิเช่ ที่หวนกลับมาคุมทีมเป็นรอบที่ 2 หลังเดินจากสโมสรไปเมื่อ 4 ปีก่อน ช่วยให้นักเตะทำผลงานดีขึ้นจนคว้าอันดับที่ 2 ภายในซีซั่นที่ เฮลลาส เวโรน่า สร้างเซอร์ไพรส์คว้า สคูเด็ตโต้ สมัยแรกและสมัยเดียวในประวัติศาสตร์ได้สำเร็จ

1988 – โตริโน่ ผ่านเข้าชิงชนะเลิศ โคปปา อิตาเลีย ได้เป็นหนที่ 4 ภายในรอบเกือบ 10 ปีหลังสุด แต่เทพีแห่งโชคก็ยังไม่เข้าข้างพวกเขาหลังพ่ายในเกมแรก 2-0 จากการออกไปเยือน ซามพ์โดเรีย ก่อนจะกลับมาแก้มือใน สตาดิโอ คอมมูนาเล่ ได้ 2-0 ภายในเวลา 90 นาที จนกระทั่งมาโดนทีมเยือนยิงประตูตีไข่แตกในนาทีที่ 112 จนทำให้จบเกมด้วยสกอร์รวมที่เป็นรอง 3-2

1989 – หลังจบฤดูกาลที่ผ่านมาด้วยการคว้าโควต้าไปเล่นใน ยูฟ่า คัพ และยังได้เข้าชิงในบอลถ้วย แต่จู่ๆทีมกลับทำผลงานในซีซั่นล่าสุดได้อย่างย่ำแย่ และแม้จะมีการปรับเปลี่ยนกุนซือถึง 2 ครั้งแต่ก็ไม่อาจทำให้พวกเขารอดพ้นการตกชั้นจากการเป็นทีมบนสุดที่ติดอยู่ในพื้นที่สีแดง

1990 – แต่ทีมก็สามารถกลับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว หลังจากคว้าแชมป์ เซเรีย บี ได้เป็นสมัยที่ 2 พร้อมกับการย้ายเข้าสู่รังเหย้า สตาดิโอ เดลเล่ อัลปิ ที่เริ่มต้นใช้งานร่วมกับ ยูเวนตุส

1991 – หลังกลับสู่ เซเรีย อา ในครั้งนี้ สโมสรตัดสินใจแต่งตั้ง เอมิเลียโน่ มอนโดนิโก้ เข้ามานั่งเก้าอี้กุนซือ พร้อมกับการเสริมทัพที่ตรงจุดก็ทำให้ทีมทะยานขึ้นมาจนจอดป้ายในอันดับที่ 5 และยังสามารถคว้าแชมป์ในรายการเล็กๆอย่าง มิโตรปา คัพ ด้วยการเอาชนะ ปิซ่า 2-1 ในนัดชิงชนะเลิศ

1992 – นอกจากจะทำผลงานในลีกได้ดีจากการได้อันดับที่ 3 มอนโดนิโก้ ยังพาทีมไปได้ไกลในบอลถ้วยยุโรปจากการผ่านเข้าไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ ยูฟ่า คัพ ที่เริ่มต้นด้วยการเปิดรัง เดลเล่ อัลปิ ต้อนรับ อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม ที่จบลงด้วยการไล่ตามตีเสมอ 2-2 ก่อนจะออกเดินทางไปเจ๊ากันแบบไร้สกอร์ที่ กรุงอัมสเตอร์ดัม จนทำให้ทีมยักษ์ใหญ่จาก ฮอลแลนด์ คว้าแชมป์ไปครองด้วยกฎอเวย์โกล

1993 – ในที่สุดแชมป์ โคปปา อิตาเลีย สมัยที่ 5 ที่แฟนๆรอคอยก็มาถึง เมื่อ อิล โตโร่ ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศไปพบกับ โรม่า ซึ่งเปิดฉากด้วยการถล่มคู่แข่งจากกรุงโรมในบ้าน 3-0 ก่อนจะบุกไปพ่ายที่ สตาดิโอ โอลิมปิโก ยับเยิน 5-2 แต่ก็ยังเพียงพอที่จะเป็นฝ่ายได้ชูถ้วยจากกฎอเวย์โกล หลังจากนั้นก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นภายในสโมสรมากมายที่นำไปสู่ความตกต่ำของทีม

1996 – หลังการก้าวเข้ามาดำรงประธานสโมสรคนใหม่ของ จานมาร์โค คาลเลรี่ ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนผจก.ทีมไปหลายต่อหลายคนแต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ผลงานดีขึ้น จนกระทั่งทีมจมอยู่ในโซนท้ายตารางและร่วงตกชั้นลงไปหลังปิดฉากฤดูกาล 1995-96

1998 – หลังจบด้วยตำแหน่งกลางตารางในซีซั่นที่ผ่านมา พวกเขาเริ่มมีโอกาสกลับสู่ เซเรีย อา เป็นครั้งแรกจากการเข้าป้ายเป็นอันดับที่ 5 แต่มีคะแนนเท่ากับ เปรูจา ทีมอันดับ 4 จนต้องไปเตะเกมเพลย์ออฟเพื่อหาทีมเลื่อนชั้น ก่อนที่พวกเขาจะพ่ายแพ้คู่แข่งในการดวลจุดโทษหลังเสมอกัน 1-1 ในช่วงเวลา 120 นาที

1999 – ในที่สุด โตริโน่ ก็เลื่อนชั้นได้สำเร็จจากการทำคะแนนตามหลัง เวโรน่า ทีมแชมป์ เซเรีย บี เพียงแค่แต้มเดียว

2000 – แต่ขึ้นมาแค่ได้ปีเดียวก็ต้องกลับลงไปอีกครั้ง จากการเก็บแต้มได้น้อยกว่า บารี่ ทีมสุดท้ายที่อยู่รอดปลอดภัย 3 คะแนน

2001 – คราวนี้ทีมใช้เวลาเพียงแค่ปีเดียวก็กลับขึ้นมาได้สำเร็จ หลังจากคว้าแชมป์ เซเรีย บี ได้เป็นสมัยที่ 3

2003 – แต่พวกเขาก็ประคับประคองตัวเองเอาไว้ได้ไม่นาน ก่อนจะจมอยู่ท้ายตารางและตกชั้นลงไปหลังจบฤดูกาล 2002-03 โดยมีแต้มห่างจากทีมที่เอาตัวรอดได้ถึง 17 คะแนน

2005 – แม้จะทำผลงานได้ดีจากการเข้าป้ายเป็นอันดับที่ 2 แต่จากการบริหารงานที่ล้มเหลวของ ฟรานเชสโก้ ชิมมิเนลลี่ บวกกับหนี้สินอันท่วมท้นก็ทำให้สโมสรจำใจต้องปฏิเสธการลงแข่งขันใน เซเรีย อา ก่อนจะประกาศสถานะล้มละลายในวันที่ 9 สิงหาคม จนกระทั่งอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา FIGC ก็ตอบรับคำร้องของ Società Civile Campo Torino ที่เป็นการรวมกลุ่มกันของนักธุรกิจที่นำโดยทนายความ ปิแอร์ลุยจิ มาเรนโก้ จนได้รับอนุญาตให้ Torino Calcio สโมสรเกิดใหม่ที่ผ่านการรับรองจากกฎหมายเฉพาะสามารถลงแข่งขันใน เซเรีย บี ต่อไปในฤดูกาลหน้า จากนั้นวันที่ 19 สิงหาคม อูร์บาโน่ ไคโร ก็ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานสโมสรคนใหม่ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อสโมสรเป็น Torino Football Club

2006 – กระทิงหิน ที่กลับมาเกิดใหม่สามารถทะยานกลับสู่ เซเรีย อา ได้ในที่สุด จากการคว้าอันดับที่ 3 จนได้ไปลุ้นต่อในเกมเพลย์ออฟที่ผ่าน เชเซน่า ได้ก่อนจะมาเสมอกับ มานโตว่า ด้วยสกอร์รวม 5-5 ในรอบชิงชนะเลิศ แต่เป็นฝ่ายได้ตั๋วเลื่อนชั้นเนื่องจากกฎอเวย์โกล

2007 – พวกเขาอยู่รอดได้แบบหวุดหวิดในฤดูกาลแรกที่เลื่อนชั้นขึ้นไป จากการเก็บแต้มได้มากกว่า คิเอโว่ ทีมตกชั้นเพียงแค่คะแนนเดียว

2009 – หลังยังคงป้วนเปี้ยนอยู่เหนือพื้นที่สีแดงไม่ไกลในซีซั่นที่ผ่านมา สุดท้ายแล้วทีมก็ร่วงตกชั้นลงไปอีกครั้งจากการได้อันดับที่ 18 ในฤดูกาล 2008-09

2010 – อิล โตโร่ พยายามดิ้นรนเต็มที่เพื่อการเลื่อนชั้น และจากการจบในอันดับที่ 5 ก็ทำให้มีสิทธิ์ลงเตะในเกมเพลย์ออฟที่สามารถผ่าน ซาสซูโอโล่ ไปเข้าชิงกับ เบรสชา แต่สุดท้ายแล้วก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไปด้วยสกอร์รวม 2-1

2012 – สโมสรประกาศแต่งตั้ง จาน ปิเอโร่ เวนตูร่า ขึ้นมาเป็นผจก.ทีมคนใหม่ในฤดูกาล 2011-12 และช่วยให้ทีมสามารถกลับคืนสู่ เซเรีย อา ได้อีกครั้ง จากการทำแต้มได้เท่ากับ เปสคาร่า ทีมแชมป์ที่เฉือนกันตรงผลงานเฮด-ทู-เฮดแถมยังมีลูกได้เสียที่น้อยกว่า

สโมสรประกาศแต่งตั้ง จาน ปิเอโร่ เวนตูร่า ขึ้นมาเป็นผจก.

2013 – ผลงานปีแรกใน เซเรีย อา ของ เวนตูร่า คือการพาทีมอยู่รอดปลอดภัยได้แบบต้องลุ้นกันพสมควรจากการจบในอันดับที่ 16

2014 – โตริโน่ เริ่มตั้งลำได้และกลับมาทำผลงานได้ดีขึ้นจากการคว้าสิทธิ์ลงเล่นใน ยูโรปา ลีก รอบ 3 ฤดูกาลหน้าหลังเข้าป้ายเป็นอันดับที่ 7 นอกจากนี้ ชิโร่ อิมโมบิเล่ หัวหอกป้ายแดงที่ย้ายมาจาก เจนัว ยังโชว์ฟอร์มเจ๋งด้วยการรัวไปถึง 22 เม็ดจนคว้า
ตำแหน่งดาวซัลโวในซีซั่น 2013-14 ไปครอง

2015 – ทีมออกสตาร์ทซีซั่นด้วยการปล่อยตัว อิมโมบิเล่ และ อเลสซิโอ แชร์ชี่ 2 ดาวยิงตัวเก่งไปให้กับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ และ แอตเลติโก มาดริด ด้วยค่าตัว 19.8 และ 16 ล้านยูโรตามลำดับ ซึ่งผลงานในฤดูกาล 2014-15 ของพวกเขาคือการไปได้ไกลจนถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายใน ยูโรปา ลีก ก่อนจะถูกเขี่ยตกรอบโดย เซนิต เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ในขณะที่ยังเอาชนะในเกม ตูริน ดาร์บี้ ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีจากประตูชัย 1-0 ของ ฟาบิโอ กวายาเรลล่า ศูนย์หน้าทีมชาติอิตาลีที่พึ่งย้ายข้ามฟากมาจาก ยูเวนตุส ก่อนจะจบฤดูกาลนั้นในอันดับที่ 9

2016 – พวกเขาเสริมทีมในช่วงซัมเมอร์ด้วยการเซ็นสัญญา อันเดรีย เบเล็ตติ มาจาก ปาแลร์โม่ และ ดาวิเด้ ซัปปาคอสต้า จาก อตาลันต้า ซึ่งหลังจากพาทีมจบในอันดับที่ 12 โดยมีแต้มเท่ากับ อตาลันต้า แต่มีผลงานเฮด-ทู-เฮดที่ดีกว่า จาน ปิเอโร่ เวนตูร่า ก็ตัดสินใจโบกมือลาเพื่อขยับขึ้นไปรับงานคุมทีมชาติอิตาลี ก่อนที่ ซินิซ่า มิไฮโลวิช จะถูกทาบทามเข้ามาเป็นตัวแทนของเขา

2017 – ทีมจัดการดึงตัว โจ ฮาร์ท มาจาก แมนฯ ซิตี้ ด้วยสัญญายืมตัวในวันสุดท้ายก่อนตลาดนักเตะหน้าร้อนจะปิดตัวลง ซึ่งเจ้าตัวก็ไม่สามารถโชว์ฟอร์มเซฟได้น่าประทับใจซักเท่าไร ก่อนที่ อิล โตโร่ จะจบฤดูกาลนั้นในอันดับที่ 12 โดยมี เบเล็ตติ ที่โชว์ฟอร์มเป็นพระเอกจากการติดอยู่ในลิสต์ของดาวซัลโวด้วยผลงาน 26 ประตูและเป็นรองเพียงแค่ เอดิน เชโก้ และ ดรีส เมอร์เท่นส์ เท่านั้น

2018 – จากการพาทีมเก็บชัยชนะได้เพียง 5 ครั้งในช่วงครึ่งซีซั่นแรกก็ทำให้ มิไอโลวิช ถูกปลดออกจากตำแหน่งในช่วงต้นปี 2018 ก่อนที่ วอลเตอร์ มาซซาร์รี่ จะถูกดึงตัวเข้ามาเสียบแทนและพาทีมประคองตัวจนจบในอันดับที่ 9

ผู้สนับสนุนและศัตรูคู่อริ

ผู้สนับสนุนและศัตรูคู่อริ

แฟนบอลของ โตริโน่ มีความสัมพันธ์แนบแน่นประดุจพี่น้องฝาแฝดกับแฟนบอลของ ฟิออเรนติน่า โดยมีจุดเริ่มต้นในปี 1970 จากการเป็นปฏิปักษ์ต่อ ยูเวนตุส ทั้งคู่ รวมถึงความใกล้ชิดที่เกิดขึ้นหลังจาก โศกนาฏกรรมซูแปร์กา นอกจากนี้พวกเขายังมีความเป็นมิตรกับกลุ่มกองเชียร์ของ อเลสซานเดรีย และ โนเชริน่า อีกด้วย มิตรภาพระหว่าง โตริโน่ และ โครินเธียนส์ สโมสรจากบราซิล เริ่มต้นขึ้นในปี 1914 จากการที่พวกเขาเป็นทีมจาก อิตาลี รายแรกที่ออกทัวร์ในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งจากโปรแกรมอุ่นเครื่องทั้งหมด 6 นัดทีมได้ลงเตะกับ โครินเธียนส์ 2 ครั้งและเริ่มสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน หลังจากเหตุการณ์ล่มสลายของ “Grande Torino” ที่ประสบอุบัติเหตุทางอากาศเสียชีวิตยกทีม โครินเธียนส์ ร่วมไว้อาลัยทีมมิตรสหายด้วยการสวมชุดแข่งเหย้าของ โตริโน่ ลงสนามในเกมที่พบกับ ปอร์ตูเกซ่า

ริเวอร์ เพลท ก็เป็นอีกหนึ่งทีมที่คอยยื่นมือมาเข้ามาช่วยเหลือพวกเขาหลังจาก โศกนาฏกรรมซูแปร์กา โดยในระหว่างนั้นสโมสรยักษ์ใหญ่จาก อาร์เจนติน่า วางแผนจัดแมตช์การกุศลเพื่อระดมทุนให้กับทีมที่กำลังอยู่ในสถานะแตกสลาย ด้วยการเดินทางมายัง ตูริน เพื่อลงเตะเกมกระชับมิตรกับทีมออลสตาร์ เซเรีย อา ที่ร่วมดำเนินการโดย FIGC สัญลักษณ์แห่งมิตรภาพของทั้ง 2 ฝ่ายยังปรากฏออกมาในรูปแบบของชุดทีมเยือนที่บางครั้ง ริเวอร์ เพลท มีการนำสีน้ำตาลอมแดง (maroon) มาใช้ (ล่าสุดในฤดูกาล 2005-06) ในขณะที่ โตริโน่ ก็มักจะนำดีไซน์ลายพาดขวางที่เป็นเอกลักษณ์ของชุดเหย้าทีมบิ๊กเนมจาก อาร์เจนติน่า มาใช้ในชุดเยือนของพวกเขาเช่นกัน นอกจากนี้ก็ยังมี แมนฯ ซิตี้ อีกหนึ่งทีมนอกประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน

จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ซามพ์โดเรีย, ปิอาเชนซ่า, เวโรน่า, ลาซิโอ, เปรูจา, อินเตอร์ มิลาน, อตาลันต้า, แตร์นาน่า และ อันคอน่า ล้วนมีสถานะเป็นทีมคู่แข่งของพวกเขา ในขณะที่ความสัมพันธ์อันดีระหว่าง เจนัว กลับแปรเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือหลังการพบกันของทั้งคู่เมื่อ 24 พฤษภาคม 2009 ที่จบลงด้วยชัยชนะของ เจนัว ที่ตามมาด้วยการฉลองชัยกันแบบสุดเหวี่ยงในขณะที่มันส่งผลให้ โตริโน่ ต้องตกชั้นลงสู่ เซเรีย บี ในฤดูกาลนั้น จนกระทั่งการโคจรกลับมาพบกันอีกครั้งกับ เจนัว ในวันที่ 16 ธันวาคม 2012 หลังจาก กระทิงหิน สามารถกลับคืนสู่ เซเรีย อา ก็เกิดเหตุความวุ่นวายจากกองเชียร์ทั้ง 2 ฝ่ายจนทำให้เกมต้องหยุดชะงัก ในขณะทีมคู่ปรับหมายเลข 1 ก็เป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ยูเวนตุส ซึ่งการพบกันของทั้งคู่จะถูกเรียกว่า “ดาร์บี้ เดลล่า โมเล่” (Derby della Mole) หนึ่งในเกมดาร์บี้ยอดนิยมระดับต้นๆของประเทศและการเป็นทีมคู่อริที่เก่าแก่ที่สุดคู่หนึ่งที่ยังคงเผชิญหน้ากันอยู่