เจาะลึกประวัติ นาโปลี สโมสรยักษ์ใหญ่แห่งเนเปิลส์

เจาะลึกประวัติ นาโปลี สโมสรยักษ์ใหญ่แห่งเนเปิลส์

โซเชียต้า สปอร์ตีว่า กัลโช่ นาโปลี (Società Sportiva Calcio Napoli) หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม นาโปลี คือสโมสรฟุตบอลอาชีพที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใน เมืองเนเปิลส์ แคว้นคัมปาเนีย ประเทศอิตาลี สโมสรถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1926 และลงเล่นอยู่ใน เซเรีย อา ลีกสูงสุดของประเทศในปัจจุบัน ที่ผ่านมาทีมเคยได้แชมป์ เซเรีย อา 2 สมัยและจบที่อันดับรองแชมป์ 6 ครั้ง ทั้งยังเคยคว้าแชมป์ โคปปา อิตาเลีย 5 สมัย, ซูเปอร์โคปปา อิตาเลียน่า 2 ครั้ง และ ยูฟ่า คัพ อีกหนึ่งครั้ง นาโปลี เป็นทีมที่มีฐานแฟนบอลมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ภายใน อิตาลี และในปี 2015 ก็เคยรั้งอยู่ในอันดับที่ 5 ของสโมสรฟุตบอลที่ร่ำรวยที่สุดภายในประเทศ รวมถึงยังเคยติดเป็นหนึ่งลิสต์ของสโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงสุดโดย นิตยสารฟอร์บส์ ภายในเดือนมกราคม 2016 ยูฟ่า ได้จัดอันดับให้พวกเขาเป็นสโมสรฟุตบอลที่ดีที่สุดอันดับ 8 ของยุโรป และดีที่สุดเป็นอันดับ 2 ของ อิตาลี นับตั้งแต่ปี 1959 ทีมลงเตะอยู่ในสนามเหย้า สตาดิโอ ซาน เปาโล ที่อยู่ในแถบทางตะวันตกของเมือง พวกเขาใช้ชุดแข่งสีฟ้าในเวลาที่ได้ลงเตะในบ้านจนกลายเป็นที่มาของฉายา “อัซซูร์รี่” ที่เหมือนกับของ ทีมชาติอิตาลี

สโมสรถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1926

ไทม์ไลน์ประวัติสโมสร

1904 – ย้อนกลับไปในยุคต้นศตวรรษที่ 20 วิลเลี่ยม โพธส์ กะลาสีชาวอังกฤษและคู่หู เฮคเตอร์ เอ็ม. บายอน พร้อมพวกพ้องชาวเมืองเนเปิลส์อันได้แก่ คอนฟอร์ติ, คัตเตรีน่า และ อเมเดโอ ซาลซี่ ได้ร่วมกันก่อตั้ง สโมสรฟุตบอลและคริกเก็ตแห่งนาโปลี (Naples Foot-Ball & Cricket Club) โดยที่ ซาลซี่ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานสโมสรคนแรก พวกเขาเริ่มต้นด้วยการใช้ชุดแข่งลายสีฟ้าสลับสีน้ำทะเลควบคู่ไปกับกางเกงสีดำลงเตะแมตช์แรกกับบรรดาลูกเรือเดินสมุทรทั้งหลาย

1906 – สโมสรตัดสินใจตัดชื่อตรงส่วน คริกเก็ต ออกจนเหลือเพียงแค่ Naples Foot-Ball Club

1909 – เซอร์ โธมัส ลิปตัน พ่อค้าชาวสก็อตผู้เป็นเจ้าของ ลิปตัน ชาแบรนด์ดังระดับโลก ได้เดินทางมาเยี่ยมเยียนที่ เกาะซิชิลี พร้อมกับเป็นโต้โผใหญ่ในเกมฟาดแข้งรายการ ลิปตัน ชาเลนจ์ คัพ ที่สุดท้ายทีมจากเนเปิลส์ก็ได้เข้าชิงกับ ปาแลร์โม่ และเป็นฝ่ายเอาชนะไปด้วยสกอร์ 4-2 โดยที่พวกเขายังเป็นฝ่ายคว้าแชมป์ได้อีกใน 2 ปีต่อมา

1912 – กลุ่มสมาชิกชาวต่างชาติของ Naples FBC ภายใต้การนำของ บายอน และ สไตน์เน็กเกอร์ ตัดสินใจแยกตัวออกเพื่อไปก่อตั้งสโมสรขึ้นมาใหม่ภายใต้ชื่อ U.S. Internazionale Napoli ในขณะที่ เอมีลีโอ อนาตร้า ยังคงสถานะเป็นหัวเรือใหญ่ของสโมสรเดิม จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ 2 ทีมคู่ปรับร่วมเมือง

1913 – ทั้ง 2 ฝ่ายต่างลงแข่งขันในรายการประจำแคว้นคัมปาเนีย ก่อนที่ Naples FBC จะรั้งตำแหน่งจ่าฝูงของตารางและไปแพ้ให้กับ ลาซิโอ ในรอบถัดไป

1914 – สถานการณ์กลับกันกับเมื่อปีที่ผ่านมา Internazionale Napoli สามารถผ่านเข้าสู่รอบถัดไป และดันไปพ่ายให้กับ ลาซิโอ เช่นกัน

1915 – ทั้งคู่ลงชิงชัยกันต่อในฤดูกาลนั้นแต่การแข่งขันกลับถูกยกเลิกกลางคันเมื่อ สงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดอุบัติขึ้น

1922 – แม้ทั้งสองทีมจะยังคงสภาพและดำเนินกิจการได้ต่อหลังสงครามสงบลง แต่ภายใต้สภาวะกดดันทางด้านการเงินจึงทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจยอมรวมสโมสรกลับเข้าด้วยกันจนกลายเป็น Foot-Ball Club Internazionale-Naples หรือ FBC Internaples

1926 – ภายใต้การบริหารงานของประธาน จอร์โจ้ อัสคาเรลลี่ พวกเขาก็ได้เปลี่ยนชื่อสโมสรใหม่เป็น Associazione Calcio Napoli เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 1926 และเริ่มเปิดตัวในลีกสูงสุดของประเทศภายใต้ชื่อ ดีวีซีโอเน่ นาซิโอนาเล่ ก่อนจะจบฤดูกาลแรกด้วยผลงานต่ำเตี้ยเรี่ยดินจากการเก็บได้เพียงแค่แต้มเดียวในการลงเตะทั้งหมด 18 นัด

1929 – อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ค่อยๆทำผลงานดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็ต้องขอบคุณ อัตติล่า ซัลลุสโตร ดาวยิงชาวปารากวัยโดยกำเนิดที่อพยพมาอยู่ใน เนเปิลส์ พร้อมกับครอบครัวตั้งแต่สมัยยังเป็นวัยรุ่น ที่ช่วยกระหน่ำไปถึง 22 ประตูจาก 28 นัดภายในฤดูกาล 1928-29 และก็ทำให้ นาโปลี ได้ติดขบวนเข้าไปเล่นใน เซเรีย อา ลีกสูงสุดเวอร์ชั่นใหม่ที่จะเริ่มเปิดตัวในฤดูกาลหน้า

1930 – พวกเขาทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจภายในฤดูกาล 1929-30 ซีซั่นเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ เซเรีย อา โดยสามารถจบในอันดับที่ 5 จากทั้งหมด 18 ทีม พร้อมกับที่ ซัลลุสโตร และ มาร์เซลโล่ มิฮาลิช กองกลางสายเลือดโครแอต จะกลายเป็นผู้เล่นกลุ่มแรกของ นาโปลี ที่ติดทีมชาติอิตาลี

1934 – ตลอด 2 ซีซั่นล่าสุดภายใต้การชี้นำของ วิลเลี่ยม การ์บัทท์ เฮดโค้ชชาวอังกฤษ พวกเขาพัฒนาฟอร์มขึ้นไปอีกด้วยการจบในอันดับที่ 3 ซึ่งทีมก็ได้ตัวนักเตะอย่าง อันโตนิโอ โวยัค, อาร์นาลโด้ เซนติเมนติ และ คาร์โล บุสคาย่า เข้ามาเป็นขุมกำลังสำคัญภายในช่วงเวลานั้น

1937 – แต่พอเริ่มเข้าใกล้ช่วง สงครามโลกครั้งที่ 2 ผลงานของพวกเขาก็เริ่มดร็อปลง โดยในซีซั่น 1936-37 ทีมต้องอยู่ในสภาวะดิ้นรนหนีตายก่อนจะจบด้วยการอยู่ในอันดับที่ 4 จากท้ายตาราง พร้อมกับการอำลาทีมของ อัตติล่า ซัลลุสโตร ผู้ครองตำแหน่งดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาลของสโมสรจนกระทั่งมาถูก ดีเอโก้ มาราโดน่า และ มาเร็ค ฮัมซิค ทำลายสถิติลงไปในภายหลัง

1940 – เป็นอีกหนึ่งฤดูกาลที่ นาโปลี จวนเจียนจะตกชั้น หลังเก็บคะแนนได้เท่ากับ ซามพ์โดเรีย ทีมบนสุดในพื้นที่สีแดง แต่ที่รอดตัวไปเพราะยิงประตูได้มากกว่า

1942 – ในที่สุดทีมก็พลาดท่าต่อการดิ้นรนหนีตายและร่วงลงไปสู่ เซเรีย บี หลังสิ้นสุดฤดูกาล 1941-42 จากการจบในอันดับรองบ๊วย

1943 – นาโปลี หวุดหวิดที่จะเลื่อนชั้นกลับมาได้ทันทีเมื่อเข้าป้ายเป็นอันดับที่ 3 ในฤดูกาลต่อมา จากการมี 2 คะแนนน้อยกว่า เบรสชา ทีมอันดับ 2 ที่ได้ขยับขึ้นไปพร้อมกับ โมเดน่า ทีมแชมป์ โดยหลังจากจบฤดูกาล 1942-43 ทีมก็ย้ายออกจาก สตาดิโอ จอร์โจ้ อัสคาเรลลี่ เข้าสู่ สตาดิโอ อาร์ตูโร่ คอลลาน่า รังเหย้าแห่งใหม่ พร้อมกับการแข่งขันภายในประเทศที่ต้องว่างเว้นไปเป็นเวลา 2 ปีเนื่องจากภาวะของ สงครามโลกครั้งที่ 2

1946 – ภายในฤดูกาลแรกหลังลีกในประเทศกลับมาลงเตะกันอีกครั้ง ทีมได้สิทธิ์ให้ขยับขึ้นไปอยู่ใน เซเรีย อา ในรูปแบบเฉพาะ โดยมีการรวมทีมจาก เซเรีย บี ที่ทำผลงานได้ดีในฤดูกาลก่อนที่จะหยุดพักไปเพื่อลงแข่งขันกันใน 2 กลุ่ม ซึ่ง นาโปลี ที่กลายเป็นแชมป์กลุ่มของทีมจากโซนตอนกลางและทางใต้ของประเทศลงแข่งขันในมินิลีกรอบสุดท้าย ก่อนจะจบในอันดับที่ 5 จากทั้งหมด 8 ทีม โดยที่ โตริโน่ คือแชมป์ของฤดูกาล 1945-46

1948 – แต่หลังจากใช้เวลาอยู่ใน เซเรีย อา ได้ไม่นาน ทีมก็ร่วงตกชั้นลงไปอีกครั้ง ทั้งๆที่พวกเขามีคะแนนไม่น้อยกว่าอีก 3 ทีมในพื้นที่สีแดงแต่เนื่องจากถูกตรวจพบว่ามีส่วนพัวพันกับคดีติดสินบน จึงทำให้ สหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี หรือ FIGC ปรับให้พวกเขาตกลงไปอยู่ในอันดับสุดท้าย

1950 – จนกระทั่งจบฤดูกาล 1949-50 นาโปลี ก็ได้สิทธิ์เลื่อนชั้นกลับสู่ลีกสูงสุดของประเทศ หลังสามารถคว้าแชมป์ เซเรีย บี ได้สำเร็จ โดยมี อูดิเนเซ่ ที่ไล่หลังอยู่ 1 คะแนนตามขึ้นไปด้วย

1956 – ทีมทำผลงานได้ไม่เลวตลอด 5 ปีที่ผ่านมาจากการเกาะกลุ่มอยู่ในอันดับท็อป 6 ก่อนที่พวกเขาจะกลายเป็นหนึ่งในสโมสรร่วมกับ ฟิออเรนติน่า ที่ได้รับการถ่ายทอดสดการแข่งขันทางโทรทัศน์จากสถานี Radiotelevisione italiana หรือ RAI เป็นรายแรกๆ

1959 – สโมสรย้ายเข้าสู่สนามเหย้าแห่งใหม่ สตาดิโอ ซาน เปาโล และคงอยู่ที่นี่ตราบจนทุกวันนี้

สโมสรย้ายเข้าสู่สนามเหย้าแห่งใหม่ สตาดิโอ ซาน เปาโล

1960 – ฤดูกาลแรกหลังการย้ายเข้าสู่บ้านหลังใหม่ ทีมทำผลงานได้ไม่ดีเท่าไรและจบในอันดับที่ 14 โดยมีแต้มมากกว่า ปาแลร์โม่ ทีมบนสุดของกลุ่มที่อยู่ในโซนตกชั้นเพียงแค่ 2 คะแนน

1961 – และแล้วทีมก็ร่วงลงสู่ เซเรีย บี ในที่สุด หลังจบฤดูกาล 1961-62 ด้วยการอยู่ในอันดับรองบ๊วย

1962 – แต่แล้วในฤดูกาลต่อมานอกจากทีมจะสามารถเลื่อนชั้นกลับมาได้ด้วยการเข้าป้ายเป็นที่ 2 รองจาก เจนัว แต่ นาโปลี ยังทำให้แฟนๆได้ฉลองกันอย่างบ้าคลั่งจากการผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ โคปปา อิตาเลีย ก่อนจะเป็นฝ่ายเอาชนะ สปาล คู่แข่งจาก เซเรีย อา ไปด้วยสกอร์ 2-1 และกลายเป็นถ้วยรางวัลระดับเมเจอร์ใบแรกของสโมสร และนี่ยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ลูกหนังอิตาลีที่ทีมจากระดับ เซเรีย บี สามารถคว้าแชมป์ได้ในรายการนี้

1963 – แต่ทีมก็ดีใจได้ไม่นานหลังตกชั้นลงไปอีกครั้งทั้งๆที่พึ่งกลับขึ้นมายัง เซเรีย อา ได้แค่ฤดูกาลเดียว โดยที่พวกเขาเก็บคะแนนได้น้อยกว่า เจนัว ทีมที่อยู่เหนือพื้นที่สีแดงเพียงแค่แต้มเดียว

1965 – หลังใช้เวลาอยู่ใน เซเรีย บี นาน 2 ปีก่อนจะตัดสินใจเปลี่ยนชื่อทีมอีกครั้งมาเป็น Società Sportiva Calcio Napoli เหมือนดั่งที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ในช่วงก่อนออกสตาร์ทฤดูกาล 1964-65 ในที่สุด นาโปลี ก็สามารถกลับเลื่อนชั้นขึ้นมาได้ด้วยการคว้าอันดับที่ 2 โดยมีคะแนนตามหลัง เบรสชา ทีมแชมป์อยู่เพียงแค่แต้มเดียว

1966 – หลังการกลับคืนสู่ เซเรีย อา อีกครั้งภายใต้การคุมทีมของ บรูโน่ เปซาโอล่า กุนซือชาวอาร์เจนติน่า ทีมก็ทำการเสริมทัพครั้งใหญ่ด้วยการดึงตัว โชเซ่ อัลตาฟินี่ หัวหอกชาวบราซิล และ โอมาร์ ซิวอรี่ ดาวยิงเลือดฟ้าขาว มาจาก เอซี มิลาน และ ยูเวนตุส ตามลำดับ ก่อนที่ทีมจะทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจและจบในอันดับที่ 3 โดยมีแต้มตามหลัง อินเตอร์ มิลาน ทีมแชมป์เพียงแค่ 5 คะแนน

1968 – จากการเสริมทัพที่ตรงจุดในช่วงซัมเมอร์นำโดย ดิโน่ ซอฟฟ์ หนึ่งในตำนานผู้รักษาประตูทีมชาติอิตาลี ทีมมีโอกาสใกล้เคียงกับการคว้าแชมป์มากที่สุดเป็นครั้งแรกในฤดูกาล 1967-68 โดยหลังจากการบุกไปเอาชนะ โบโลญญ่า 2-1 ในแมตช์ที่ 9 ก็ทำให้พวกเขาขึ้นไปรั้งอยู่ในตำแหน่งจ่าฝูง แต่ก็ไม่สามารถต้านทานความแข็งแกร่งของ เอซี มิลาน ทีมแชมป์ได้หลังจากออกไปพ่ายใน ซาน ซีโร่ 2-1 จนกระทั่งเกมที่บุกไปโค่น อินเตอร์ มิลาน ได้ถึงถิ่น 2-1 ในนัดรองสุดท้าย ก็ทำให้พวกเขาการันตีการได้อันดับที่ 2 และกลายเป็นผลงานที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของสโมสรภายในช่วงเวลานั้น

1971 – ทีมรักษาผลงานที่ดีเอาไว้ได้จากการจบฤดูกาล 1970-71 ในอันดับที่ 3 และแนวรับที่นำโดย ดิโน่ ซอฟฟ์ ก็ทำให้พวกเขาเสียประตูในลีกน้อยที่สุดเพียงแค่ 19 ประตูจากการลงเตะ 30 นัดเท่านั้น

1972 – ในขณะที่ผลงานในลีกอาจจะตกลงไปพอสมควรจากการจบในอันดับที่ 8 แต่ทีมก็ยังสามารถผ่านเข้าชิงในรายการ โคปปา อิตาเลีย ก่อนจะเป็นฝ่ายปราชัยให้กับ เอซี มิลาน 2-0

1974 – พวกเขากลับมาคืนฟอร์มเก่งได้อีกครั้งจากการเข้าป้ายเป็นที่ 3 รองจาก ยูเวนตุส และ ลาซิโอ ทีมแชมป์

1975 – ทีมพัฒนาผลงานยิ่งขึ้นไปอีกและเกือบจะไปได้สุดทาง หลังจากเข้าป้ายเป็นที่ 2 รองจาก ยูเวนตุส โดยมีคะแนนและผลต่างประตูน้อยกว่าเพียงแค่ 2 ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ใกล้เคียงยิ่งกว่าเมื่อ 7 ปีที่แล้ว

1976 – นาโปลี กลับมาคว้าแชมป์ อิตาเลียน คัพ ได้เป็นสมัยที่สอง หลังจากเดินลงสนาม สตาดิโอ โอลิมปิโก เพื่อดวลกับ เฮลลาส เวโรน่า ในนัดชิงชนะเลิศ ก่อนจะถล่มคู่แข่งไปราบคาบ 4-0 จากการเหมาคนเดียว 2 ประตูของ จูเซปเป้ ซาโวลดี้ หัวหอกดีกรีทีมชาติอิตาลี นอกจากนี้ทีมยังสามารถสยบ เซาแธมป์ตัน 4-1 จนได้ชูถ้วย แองโกล-อิตาเลีย คัพ รายการที่ถูกจัดขึ้นระหว่างทีมจาก อังกฤษ และ อิตาลี โดยมีการแข่งขันกันอยู่ภายในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี

1977 – จากการคว้าแชมป์ โคปปา อิตาเลีย ก็ทำให้ทีมได้เป็นตัวแทนไปลงแข่งขันในรายการ ยูโรเปี้ยน คัพ วินเนอร์ส คัพ ซึ่งก็ไปได้ไกลจนถึงรอบรองชนะเลิศที่เป็นฝ่ายเอาชนะ อันเดอร์เลชท์ ในบ้านได้ก่อน 1-0 แต่ก็ออกไปโดนทีมแกร่งจาก เบลเยี่ยม เอาคืน 2-0 ในนัดต่อมา

1978 – พวกเขาผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ อิตาเลียน คัพ เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 ปี แต่คราวนี้ทีมกลับเป็นฝ่ายถูก อินเตอร์ มิลาน พลิกกลับมาแซงนำ 2-1 จากประตูชัยในนาทีสุดท้ายของเกม

1982 – หลังก้าวเข้าสู่ยุคปี 80 ทีมก็ยังทำผลงานได้ค่อนข้างดีจากการคว้าอันดับที่ 3 ในซีซั่นก่อนและมาได้อันดับที่ 4 ในฤดูกาล 1981-82

1984 – แต่แล้วจู่ๆในฤดูกาล 1983-84 พวกเขาก็กลับกลายเป็นทีมที่ต้องดิ้นรนหนีการตกชั้น ก่อนจะเอาตัวรอดมาได้อย่างหวุดหวิดเมื่อเก็บคะแนนได้มากกว่า เจนัว ทีมบนสุดที่อยู่ในโซนตกชั้นเพียงแค่แต้มเดียว จนกระทั่งในช่วงซัมเมอร์ในปีนั้น นาโปลี ก็ตัดสินใจเทหมดหน้าตักในการทุ่มซื้อ ดีเอโก้ มาราโดน่า มาจาก บาร์เซโลน่า ในราคาที่เป็นสถิติโลก 6.9 ล้านปอนด์ ก่อนที่ ยอดเพลย์เมคเกอร์เลือดฟ้าขาว จะมาปรากฏตัวต่อหน้าแฟนบอลราว 75,000 คน ในงานเปิดตัวที่สนาม ซาน เปาโล เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม
1984

1986 – แม้การเข้ามาของ มาราโดน่า จะยังไม่อาจบันดาลความสำเร็จให้ทีมได้ในทันที แต่อย่างน้อยก็ทำให้ผลงานโดยรวมของทีมค่อยๆกระเตื้องขึ้นจากการจบฤดูกาลในอันดับที่ 8 ในซีซั่นก่อนและขยับขึ้นมาคว้าอันดับที่ 3 ในฤดูกาล 1985-86

1987 – จากฟอร์มที่เก่งกล้าเกินวัยของ ชิโร่ แฟร์ราร่า ปราการหลังดาวรุ่งพุ่งแรงที่สามารถยึดตำแหน่งตัวจริงได้อย่างเหนียวแน่นหลังถูกผลักดันขึ้นมาจากทีมเยาวชนเมื่อ 2 ปีก่อน บวกกับผลงานสุดคุ้มของ อันเดรีย คาร์เนวาเล่ และ แฟร์นันโด ดิ นาโปลี 2 ดาวเตะที่พึ่งย้ายเข้ามาใหม่ในช่วงซัมเมอร์ ที่มาลงล็อคกับฟอร์มที่กำลังพีคสุดขีดของ ดีเอโก้ มาราโดน่า ซุปตาร์กัปตันทีม ก็ทำให้ นาโปลี ครองแชมป์ลีกสูงสุดได้เป็นสมัยแรกในประวัติศาสตร์ และนั่นยังทำให้พวกเขากลายเป็นทีมแรกจากในย่านทางตอนใต้ของประเทศที่คว้าแชมป์ สคูเด็ตโต้ ได้สำเร็จ นอกจากนี้ทีมยังคว้าดับเบิ้ลแชมป์ได้ด้วยการผ่านเข้าไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ โคปปา อิตาเลีย ก่อนจะเป็นฝ่ายไล่ต้อน อตาลันต้า ทั้งในนัดเหย้าและเยือนด้วยสกอร์ 3-0 และ 1-0 ตามลำดับ จนกลายเป็นแชมป์สมัยที่ 3 ของพวกเขาในรายการนี้

1988 – ทีมแสดงออกถึงความทะเยอทะยานอย่างเต็มที่ด้วยการเซ็นสัญญากับ กาเรก้า ดาวยิงทีมชาติบราซิล มาจาก เซา เปาโล ในช่วงซัมเมอร์ ก่อนที่ มาราโดน่า และผองเพื่อนจะออกสตาร์ทในฤดูกาลป้องกันแชมป์ได้อย่างคึกคักและสามารถรั้งตำแหน่งจ่าฝูงไปได้จนจบช่วงพักเบรคฤดูหนาว แต่ลางร้ายก็เริ่มมาเยือนพวกเขาตั้งแต่ต้นปี 1988 หลังจากบุกไปพ่ายให้กับ เอซี มิลาน ทีมคู่แข่งลุ้นแชมป์ 4-1 ที่แม้อันดับของทีมจะยังไม่ถูกสั่นคลอนในเวลานั้นก็ตาม แต่แล้วจากฟอร์มที่เริ่มจะแผ่วลงไปในช่วงเดือนมีนาคมซึ่งสวนทางกับผลงานอันร้อนแรงของ ปีศาจแดงดำ สุดท้ายแล้วพวกเขาก็เสียแชมป์ให้กับ มิลาน จากการมีแต้มตามหลังอยู่ 3 คะแนนหลังจบ 30 นัดในฤดูกาล 1987-88

1989 – จากฟอร์มอันร้อนแรงของ อินเตอร์ มิลาน ที่แพ้ไปเพียงแค่ 2 นัดตลอดทั้งฤดูกาล ก็ทำให้พวกเขาเข้าป้ายเป็นที่ 1 ภายในฤดูกาล 1988-89 ส่วนทางฝั่ง นาโปลี ก็เหมือนจะได้แต่บทพระรอง โดยเริ่มจากเป็นฝ่ายไล่ตามมาในอันดับที่ 2 และมีคะแนนตามหลังอยู่ห่างๆถึง 11 คะแนน ในขณะที่ กาเรก้า ก็คว้าตำแหน่งรองดาวซัลโวร่วมกับ มาร์โก แวน บาสเท่น นอกจากนี้ทีมยังผ่านเข้าไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ อิตาเลียน คัพ แต่ก็พ่ายให้กับ ซามพ์โดเรีย หลังเอาชนะในบ้านได้ก่อน 1-0 แต่กลับบุกไปพ่ายยับเยิน 4-0 ในเลกที่สอง แต่สุดท้ายแล้วบรรดาแฟนๆก็ได้เฮกันสุดเสียงเมื่อทีมได้เข้าชิงในรายการ ยูฟ่า คัพ และเป็นฝ่ายเปิดรัง ซาน เปาโล เอาชนะ สตุ๊ตการ์ท ไปก่อนในเลกแรก 2-1 จากการทำประตูของ มาราโดน่า และ กาเรก้า จนกระทั่งมาได้อีก 3 ประตูในนัดเยือนจากฝีเท้าของ อเลเมา, แฟร์ราร่า และ กาเรก้า ในเกมที่เสมอกันไปแบบสุดมันส์ 3-3 จนทำให้พวกเขาคว้าแชมป์ยุโรปใบแรกมาครองได้สำเร็จ

1990 – นาโปลี กลับมาคว้าแชมป์ เซเรีย อา ได้เป็นสมัยที่ 2 ที่แม้แฟนบอลหลายคนอาจจะยกย่องผลงานอันสุดฮอทของ มาราโดน่า ที่ยิงประตูได้เป็นกอบเป็นกำจนติดอยู่ในลิสต์ของดาวซัลโวประจำฤดูกาลนั้น หรือการแจ้งเกิดในเวทีระดับสูงครั้งแรกของ จานฟรังโก้ โซล่า หัวหอกดาวรุ่งที่จับคู่กับ กาเรก้า ได้อย่างลงตัว อย่างไรก็ตามการครองบัลลังก์ของพวกเขาในครั้งนี้ก็ยังมีประเด็นที่กลายเป็นข้อถกเถียงกันในหมู่แฟนบอล เนื่องจากการขับเคี่ยวลุ้นแชมป์ที่ตีคู่มากับ เอซี มิลาน และเป็นฝ่ายผลัดกันนำผลัดกันตามมาตลอดทั้งฤดูกาล จนกระทั่งมามีไฮไลต์สำคัญในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ นาโปลี ได้รับการแจก 2 แต้มฟรีๆจากการที่ อเลเมา มิดฟิลด์ชาวแซมบ้า ถูกปาด้วยเหรียญเข้าที่ศรีษะโดยแฟนบอล อตาลันต้า ทั้งๆที่ผลของการออกไปเยือนที่ แบร์กาโม่ จบลงด้วยสกอร์ 0-0 แต่บางทีที่มันไม่ได้กลายเป็นเรื่องดราม่าใหญ่โตอะไรนักก็อาจเป็นเพราะ เอซี มิลาน เกิดดันไปพ่ายให้กับ เวโรน่า ภายในสัปดาห์นั้นเช่นกัน ก่อนที่ทีมจะเข้าป้ายเป็นที่ 1 หลังจบฤดูกาล 1989-90 โดยมีคะแนนมากกว่า มิลาน 2 คะแนน นอกจากนี้ในช่วงก่อนออกสตาร์ทซีซั่นใหม่พวกเขายังมาถล่ม ยูเวนตุส 5-1 ในการแข่งขัน ซูเปอร์โคปปา อิตาเลียน่า และกลายเป็นสกอร์ที่ขาดลอยที่สุดของรายการจวบจนทุกวันนี้

1991 – ผลงานในฤดูกาลป้องกันแชมป์ของพวกเขาเป็นไปอย่างตะกุกตะกัก ซึ่งหนึ่งในสาเหตุหลักก็น่าจะมาจากการที่ มาราโดน่า ถูกตรวจพบการใช้สารเสพติดประเภทโคเคน ก่อนจะรีบบินหนีกลับบ้านเกิดไปท่ามกลางกระแสข่าวว่าทางการกำลังจ้องจะควบคุมตัวเขาอยู่ ในขณะที่ผลงานในถ้วย ยูโรเปี้ยน คัพ ก็ผ่านเข้าไปจนถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายก่อนจะถูกเขี่ยตกรอบด้วยน้ำมือของ โอลิมปิก มาร์กเซย ที่ก้าวไปต่อจนถึงรอบชิงชนะเลิศในภายหลัง และท้ายที่สุดแล้วทีมก็จบฤดูกาลนั้นด้วยอันดับที่ 8 ไปแบบเงียบๆ

1992 – ภายใต้การคุมทีมในซีซั่นแรกของ เคลาดิโอ รานิเอรี่ ก็ช่วยให้ทีมที่พึ่งประกาศแยกทางกับ มาราโดน่า ตำนานนักเตะอย่างเป็นทางการ กลับมาโชว์ฟอร์มได้น่าประทับใจอีกครั้ง เมื่อสามารถคว้าโควต้าในพื้นที่ยุโรปได้จากการจบในอันดับที่ 4

ภายใต้การคุมทีมในซีซั่นแรกของ เคลาดิโอ รานิเอรี่ ก็ช่วยทีม

1993 – แต่หลังจากออกสตาร์ทซีซั่นต่อมาได้อย่างน่าผิดหวัง รานิเอรี่ ก็กระเด็นหลุดออกจากตำแหน่งภายในเดือนพฤศจิกายน 1992 ก่อนที่สโมสรจะแต่งตั้ง ออตตาวิโอ เบียงคี่ เข้ามาเสียบแทน ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ต้องขอบคุณผลงานในเกมรุกที่ยังไว้ใจได้ของสามประสาน โซล่า, กาเรก้า และ ดาเนี่ยล ฟอนเซก้า หัวหอกป้ายแดงที่พึ่งย้ายเข้ามาในช่วงซัมเมอร์ ที่ช่วยประคองทีมไปจนจบฤดูกาลในอันดับที่ 11 ก่อนที่ โซล่า จะย้ายออกไปอยู่กับ ปาร์ม่า ในขณะที่ กาเรก้า ก็ออกเดินทางไปเล่นอยู่ใน เจลีก

1994 – นาโปลี ประกาศแต่งตั้ง มาร์เซลโล่ ลิปปี้ เข้ามาคุมทีมในฤดูกาลใหม่ ซึ่งเขาก็ทำผลงานได้ค่อนข้างน่าพอใจหลังพาทีมจบในอันดับที่ 6 ท่ามกลางสภาวะวิกฤติทางการเงินของสโมสร จนทำให้ต้องยอมปล่อยตัว 2 สตาร์ต่างชาติ โยนาส เธิร์น สวีปเปอร์กัปตันทีมชาติสวีเดน และ ดาเนี่ยล ฟอนเซก้า ดาวยิงชาวอุรุกวัย ไปให้กับ โรม่า ทั้งคู่ ในขณะที่ ชิโร่ แฟร์ราร่า ก็ย้ายออกไปอยู่กับ ยูเวนตุส ในช่วงซัมเมอร์

1995 – จากการเสียผู้เล่นคนสำคัญออกไปจนส่งผลกระทบต่อการออกสตาร์ทได้อย่างย่ำแย่ ก็ทำให้ วินเซนโซ่ เกวรินี่ ที่พึ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่ถูกปลดออกไปในเดือนตุลาคม 1994 ก่อนที่ วูยาดิน บอสคอฟ เทรนเนอร์ชาวเซิร์บ จะเข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์จนช่วยให้ทีมพลิกกลับมาจบในอันดับที่ 7 ท่ามกลางฤดูกาลที่โดดเด่นของ อังเดร ครูซ ปราการหลังจอมถล่มประตูชาวแซมบ้า ที่จับคู่กับ ฟาบิโอ คันนาวาโร่ ได้อย่างลงตัว ก่อนที่ฝ่ายหลังจะถูกปล่อยตัวไปให้กับ ปาร์ม่า ในช่วงซัมเมอร์

1996 – ทีมยังคงประสบปัญหาในแนวรุกอย่างต่อเนื่อง แต่ยังดีที่ โรแบร์โต้ อยาล่า เซ็นเตอร์แบ็คเลือดฟ้าขาว ที่ย้ายเข้ามาใหม่ยังสามารถจับคู่กับ อังเดร ครูซ และช่วยกันปกป้องแนวรับได้อย่างน่าพอใจ จนทำให้ทีมยังเอาตัวรอดได้ด้วยการจบในอันดับที่ 12

1997 – แม้จะเปลี่ยนกุนซือใหม่เป็น ลุยจิ ซิโมนี่ แต่ผลงานของพวกเขาก็ยังสาละวันเตี้ยลง ในขณะที่ ซิโมนี่ ก็อยู่ไม่ทันจบฤดูกาลด้วยซ้ำก่อนจะถูก วินเซนโซ่ มอนเตฟุสโก้ โค้ชทีมเยาวชนขยับขึ้นมาทำหน้าที่แทนและช่วยพาทีมจบในอันดับที่ 13 อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ยังผ่านเข้าไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ โคปปา อิตาเลีย ที่แม้จะได้ประตูชัย 1-0 จาก ฟาบิโอ เป็คเคีย ในบ้านตนเองไปก่อน แต่กลับถูก วิเซนซ่า เปิดรังถล่มในนัดเยือน 3-0 จนพลาดโอกาสคว้าแชมป์บอลถ้วยเป็นสมัยที่ 4

1998 – และแล้ว นาโปลี ก็เดินทางมาจนถึงปากเหว แม้ทีมจะพยายามดิ้นรนด้วยการเปลี่ยนผจก.ทีมไปทั้งหมด 4 รายตลอดทั้งซีซั่น แต่สุดท้ายพวกเขาก็เก็บชัยชนะได้เพียงแค่ 2 ครั้งจากการลงเตะทั้งหมด 34 นัดจนจมอยู่ตรงก้นตารางโดยมีแต้มน้อยกว่า วิเซนซ่า อันดับที่ 14 ทีมสุดท้ายที่อยู่รอดปลอดภัยถึง 22 คะแนน ก่อนจะร่วงตกชั้นลงสู่ เซเรีย บี เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1963

2000 – หลังใช้ความพยายามอยู่ 2 ปี ทีมก็สามารถเลื่อนชั้นกลับมาได้จากการคว้าอันดับที่ 4 ของ เซเรีย บี ในฤดูกาล 1999-2000

2001 – แต่ท่ามกลางสงครามหนีตกชั้นอันดุเดือดร่วมกับทีมในกลุ่มโซนท้ายตารางอย่าง อูดิเนเซ่, เลชเช่, เวโรน่า, เรจจิน่า และ วิเซนซ่า สุดท้ายแล้วพวกเขาก็เป็นหนึ่งในผู้พ่ายแพ้และร่วงตกชั้นลงไปอีกครั้งจากการจบในอันดับรองบ๊วย

2002 – ทีมเกือบจะมีโอกาสเลื่อนชั้นจากการเกาะอยู่ในกลุ่มหัวตารางก่อนจะพลาดตกลงมาอยู่ในอันดับที่ 5 จนหมดสิทธิ์กลับขึ้นไปอย่างน่าเสียดาย

2004 – ในที่สุดฝันร้ายที่แท้จริงก็มาเยือนพวกเขา แม้ทีมจะจบด้วยอันดับกลางตารางแต่จากการเปิดเผยตัวเลขทางบัญชีที่มีหนี้สะสมอยู่ร่วม 70 ล้านยูโร ก็ทำให้สโมสรตกอยู่ในสถานะล้มละลายตอนช่วงซัมเมอร์ปี 2004

2005 – อย่างไรก็ตามด้วยความมุ่งมั่นของ ออเรลิโอ เด ลอเรนติส โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ชื่อดังชาวอิตาเลียน ที่ไม่ต้องการจะเห็น เนเปิลส์ ปราศจากทีมฟุตบอลประจำเมือง จึงทำให้ Napoli Soccer ถูกก่อตั้งขึ้นมาใหม่และเริ่มต้นแข่งขันอยู่ใน เซเรีย ซี 1 หรือ ดิวิชั่น 3 ในขณะนั้น และยังเกือบจะได้เลื่อนชั้นตั้งแต่ในปีแรกแต่ก็พ่ายให้กับ อเวลลิโน่ ในนัดชิงเพลย์ออฟไปแบบหวุดหวิด 2-1

2006 – แม้ทีมจะลงเตะอยู่ในระดับ เซเรีย ซี 1 แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาคือหนึ่งในสโมสรที่มีฐานแฟนบอลคอยสนับสนุนมากที่สุดในประเทศ และด้วยตัวเลขเฉลี่ยของผู้ชมต่อนัดที่สูงถึง 51,000 คนก็ยังเป็นจำนวนที่สูงกว่าทีมส่วนใหญ่ใน เซเรีย อา ขณะนั้นด้วยซ้ำ จนกระทั่งการเก็บชัยในบ้านเหนือ เปรูจา 2-0 เมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนก็ทำให้พวกเขาการันตีการเลื่อนชั้นขึ้นสู่ เซเรีย บี ได้สำเร็จ ก่อนที่ เด ลอเรนติส เจ้าของทีมคนใหม่จะกอบกู้ชื่อดั้งเดิม Società Sportiva Calcio Napoli ให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้งหลังจบฤดูกาล 2005-06

2007 – หลังใช้เวลาอยู่ใน เซเรีย บี เพียงแค่ซีซั่นเดียวพวกเขาก็มีสิทธิ์ลุ้นกลับคืนสู่ เซเรีย อา ในขณะที่ ยูเวนตุส ที่ตกชั้นลงมาเนื่องจากคดี กัลโช่โปลี เมื่อซีซั่นก่อนและยังถูกหักไปอีก 9 คะแนน แต่กลับสามารถทำคะแนนทิ้งห่างและตีตั๋วจองอันดับ 1 ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จนทำให้พวกเขาต้องแย่งชิงโควตาเลื่อนชั้นอัตโนมัติกับ เจนัว อีกหนึ่งทีมยักษ์หลับของประเทศ ท้ายที่สุดทั้งคู่ก็ได้ผลตามที่คาดหวังในนัดสุดท้ายของฤดูกาล จนทำให้ทั้ง ยูเวนตุส, นาโปลี และ เจนัว 3 ทีมที่เคยครองแชมป์ลีกสูงสุดได้กลับคืนสู่เวทีที่คู่ควรของพวกเขา

2008 – ภายในซีซั่นแรกของการหวนกลับคืนสู่ เซเรีย อา ทีมเสริมทัพด้วยการดึงตัว เอเซเกล ลาเวซซี่ ศูนย์หน้าชาวอาร์เจนติน่า และ มาเร็ค ฮัมซิค จอมทัพชาวสโลวาเกีย เข้ามา โดยที่ทีมพยายามประคองตัวเองจนจบในอันดับที่ 8

2009 – พวกเขาเดินหน้าเสริมทัพต่อด้วยการคว้าตัว คริสเตียน มาจโจ้ วิงแบ็คทีมชาติอิตาลี มาจาก ซามพ์โดเรีย และ เกร์มัน เดนิส หัวหอกชาวอาร์เจนติน่า จาก อินดิเพนเดนเต้ แต่ทีมก็ยังทำได้เพียงจบในอันดับที่ 12

2010 – ทีมยังพยายามช็อปปิ้งอย่างหนักในช่วงหน้าร้อนด้วยการเซ็นสัญญากับ ฟาบิโอ กวายาเรลล่า หัวหอกทีมชาติอิตาลี ของ อูดิเนเซ่, อูโก้ คัมปันญาโร่ กองหลังเลือดฟ้าขาว จาก ซามพ์โดเรีย, ฮวน คามิโล ซูนิก้า ฟูลแบ็คชาวโคลอมเบีย จาก เซียน่า และ มอร์แกน เด ซานติส นายทวารชาวอิตาเลียน จาก เซบีย่า ประกอบกับการเข้ามารับหน้าที่คุมทีมต่อจาก โรแบร์โต้ โดนาโดนี่ ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคมของ วอลเตอร์ มาซซาร์รี่ ก็ทำให้ทีมพัฒนาฟอร์มขึ้นมาจนจบฤดูกาล 2009-10 ในอันดับที่ 6 และคว้าสิทธิ์กลับไปเล่นใน ยูโรปา ลีก รอบเพลย์ออฟ

2011 – ภายใต้การคุมทีมตั้งแต่ออกสตาร์ทซีซั่นโดย มาซซาร์รี่ บวกกับการเสริมทัพด้วย เอดินสัน คาวานี่ ที่ยืมตัวมาจาก ปาแลร์โม่ ก็ทำให้ผลงานของพวกเขาพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยใช้เวลาส่วนใหญ่รั้งอยู่ในอันดับที่ 2 ก่อนจะขยับลงมาจบในอันดับที่ 3 ในท้ายที่สุด

2012 – นาโปลี หวนกลับคืนสู่การแข่งขันในถ้วยยุโรปใบใหญ่อีกครั้ง หลังจากเคยสัมผัสบรรยากาศนี้มาแล้วใน ยูโรเปี้ยน คัพ 1987-88 และ 1990-91 ซึ่งจากการเข้าร่วมทัวร์นาเมนต์ภายใต้รูปโฉมใหม่ในครั้งนี้ พวกเขาก็ทำได้ไม่เลวจากการผ่านเข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้ายด้วยการรั้งอันดับที่ 2 ของกลุ่ม A รองจาก บาเยิร์น มิวนิค ก่อนจะจอดป้ายด้วยน้ำมือของ เชลซี ทั้งๆที่เป็นฝ่ายเอาชนะในบ้านไปก่อน 3-1 แต่กลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการออกไปเยือนที่ สแตมฟอร์ด บริดจ์ 4-1 ก่อนที่ เชลซี จะก้าวขึ้นไปจนถึงตำแหน่งแชมป์ในท้ายที่สุด ในขณะที่ผลงานในลีกแม้จะดูดร็อปลงเล็กน้อยจากการจบในอันดับที่ 5 แต่ทีมของ มาซซาร์รี่ ก็ผ่านเข้าไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ โคปปา อิตาเลีย ก่อนจะสามารถสยบ ยูเวนตุส 2-0 จากการทำประตูของ คาวานี่ และ ฮัมซิค

2013 – ทีมกลับมาทำผลงานได้ดีที่สุดนับตั้งแต่การคว้าแชมป์ สคูเด็ตโต้ หนสุดท้ายเมื่อปี 1990 จากการเข้าป้ายเป็นที่สองรองจาก ยูเวนตุส ที่โกยคะแนนทิ้งห่างไป 9 แต้ม ในขณะที่ เอดินสัน คาวานี่ ดาวยิงชาวอุรุกวัยที่ทีมตัดสินใจเซ็นสัญญาถาวรมาตั้งแต่ปี 2011 ก็สามารถคว้าตำแหน่งดาวซัลโวที่ 29 ประตู นำห่าง อันโตนิโอ ดิ นาตาเล่ ที่ตามมาถึง 6 ลูก ก่อนที่พวกเขาจะยอมปล่อยตัว เอเซเกล ลาเวซซี่ ไปให้กับ ปารีส แซงต์-แชร์กแมง ด้วยราคา 57 ล้านปอนด์ที่กลายเป็นสถิติการขายผู้เล่นของสโมสรในช่วงหน้าร้อน พร้อมๆกับการจากไปของ มาซซาร์รี่ ที่ขยับไปคุมทีม อินเตอร์ มิลาน

2014ราฟาเอล เบนิเตซ คือผู้ที่ก้าวเข้ามารับตำแหน่งต่อจาก มาซซาร์รี่ ในการออกสตาร์ทซีซั่นที่มีการเสริมทัพครั้งใหญ่ทั้ง ดรีส เมอร์เท่นส์ จาก พีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น, โฆเซ่ กาเยฆ่อน, ราอูล อัลบิโอน และ กอนซาโล่ อิกวาอิน จาก เรอัล มาดริด, เปเป้ เรน่า จาก ลิเวอร์พูล และ จอร์จินโญ่ จาก เวโรน่า ที่แม้ เอล บอส จะช่วยให้ทีมจบในอันดับที่ 3 รองจาก โรม่า และ ยูเวนตุส ทีมแชมป์ก็ตาม แต่พวกเขาก็ยังเป็นฝ่ายคว้าแชมป์ อิตาเลียน คัพ ได้เป็นสมัยที่ 5 ด้วยการเอาชนะ ฟิออเรนติน่า 3-1 จากการเหมาคนเดียว 2 เม็ดของ ลอเรนโซ่ อินซินเญ่ และอีก 1 ตุงปิดท้ายเกมในนาทีที่ 90+2 จาก เมอร์เท่นส์ ก่อนที่ทีมจะมาคว้าถ้วย ซูเปอร์โคปปา อิตาเลียน่า เป็นครั้งที่ 2 จากการดวลจุดโทษเอาชนะ ยูเวนตุส หลังจากเสมอกัน 2-2 ภายในช่วงเวลา 120 นาที

ราฟาเอล เบนิเตซ คือผู้ที่ก้าวเข้ามารับตำแหน่งต่อจาก มาซซาร์รี่

2015 – แม้ทีมจะพยายามขันแนวรับด้วยการดึงตัว คาลิดู คูลิบาลี่ เข้ามาแต่พวกเขาก็ยังคงเป็นทีมที่เสียประตูมากที่สุดในบรรดาครึ่งบนของตาราง และจบฤดูกาล 2014-15 ด้วยอันดับที่ 5 ในขณะที่เส้นทางในยุโรปหลังจากตกรอบเพลย์ออฟใน แชมเปี้ยนส์ ลีก ทีมก็หันมาลงแข่งในรายการ ยูโรปา ลีก และผ่านเข้าไปจนถึงรอบตัดเชือกก่อนจะพ่ายแพ้ให้กับ ดนิโปร ดนิโปรเปตรอฟส์ค

2016 – จากฟอร์มอันร้อนแรงของ กอนซาโล่ อิกวาอิน ที่ทำลายสถิติการยิง 35 ประตูในซีซั่น 1949-50 ของ กุนนาร์ นอร์ดาห์ล ตำนานดาวยิงชาวสวีดิชของ เอซี มิลาน พร้อมทั้งสร้างสถิติเทียบเท่า จิโน่ รอสเซ็ตติ อดีตหัวหอกของ โตริโน่ ที่ครองตำแหน่งดาวซัลโวจากผลงาน 36 ประตูในฤดูกาล 1928-29 ก็ช่วยสร้างเครดิตให้การคุมทีมในปีแรกของ เมาริซิโอ ซาร์รี่ ด้วยการคว้าตำแหน่งรองแชมป์ เซเรีย อา

2017 – นาโปลี ยอมปล่อยตัว กอนซาโล อิกวาอิน ให้กับ ยูเวนตุส ในราคา 90 ล้านยูโรและกลายเป็นสถิติค่าตัวสูงที่สุดของการย้ายทีมภายในประเทศ ก่อนจะเสริมทัพด้วยการเซ็นสัญญา อาร์คาดิอุสซ์ มิลิค ศูนย์หน้าชาวโปแลนด์ มาจาก อาแจ็กซ์ ในราคา 35 ล้านยูโร และ ปิโอเตอร์ ซีลินสกี้ กองกลางเพื่อนร่วมชาติ จาก อูดิเนเซ่ ในราคา 16 ล้านยูโร ก่อนที่ทีมจะเข้าป้ายเป็นอันดับที่ 3 โดยมีแต้มตามหลัง ยูเวนตุส ทีมแชมป์เพียงแค่ 5 คะแนน ในขณะที่ ดรีส เมอร์เท่นส์ ก็คว้าตำแหน่งรองดาวซัลโวที่ 28 ประตูตามหลัง เอดิน เชโก้ ของ โรม่า เพียงแค่ลูกเดียว

2018 – ผลงานในซีซั่นสุดท้ายของ ซาร์รี่ ก่อนจะย้ายไปอยู่กับ เชลซี ในฤดูกาลถัดไปคือการพาทีมรั้งตำแหน่งจ่าฝูงตั้งแต่นัดที่ 4 ของฤดูกาล และยึดบัลลังก์ได้ยาวแทบจะตลอดจนกระทั่งหลังการพ่ายแพ้คาบ้านให้กับ โรม่า 4-2 ในช่วงต้นเดือนมีนาคม ก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ ยูเวนตุส พลิกกลับขึ้นมาแซงนำ ก่อนที่ฟอร์มของพวกเขาจะเริ่มสะดุดไปบ้างจนทำให้จบในอันดับที่ 2 และมีแต้มน้อยกว่า ยูเว่ ทีมแชมป์เพียงแค่ 4 คะแนน

ผู้สนับสนุนและศัตรูคู่อริ

นาโปลี คือทีมที่มีแฟนบอลตามสนับสนุนมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ

นาโปลี คือทีมที่มีแฟนบอลตามสนับสนุนมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ หรือคิดเป็นจำนวน 13% จากจำนวนแฟนบอลชาวอิตาเลียนทั้งหมด และก็เฉกเช่นเดียวกับสโมสรระดับชั้นนำอื่นๆที่ฐานแฟนบอลของพวกเขาไม่ได้มีแต่เฉพาะภายใน อิตาลี เป็นที่คาดการณ์กันว่าพวกเขามีกองเชียร์อยู่ทั่วโลกราว 6 ล้านคน “ในช่วงเช้าที่เราลงไปอบอุ่นร่างกายกันในสนาม ซาน เปาโล ผมก็ได้ยินเรื่องเกี่ยวกับสนามแห่งนี้จาก คาร์ลอส (เตเวซ) แต่ผมเองก็เคยเล่นให้กับ บาร์ซ่า มาแล้วจึงได้บอกกับตัวเองว่า มันคงไม่เท่าไรหรอก! จนกระทั่งถึงช่วงค่ำที่ผมก้าวเท้าลงสู่สนามและรู้สึกถึงอะไรบางอย่างที่แตกต่างและน่าอัศจรรย์ เมื่อถึงช่วงที่เพลงประจำ แชมเปี้ยนส์ ลีก เริ่มบรรเลงขึ้น เสียงของผู้คน 80,000 คนที่พากันเป่าปากใส่เราก็ทำให้ผมเริ่มรู้สึกตัวว่า เรากำลังเผชิญหน้ากับอะไรอยู่เนี่ย! ผมเคยลงเล่นแมตช์สำคัญมาแล้วมากมายตลอดทั้งชีวิต แต่หลังจากที่ผมได้ยินเสียงกระหึ่มจากที่นั่นเป็นครั้งแรกมันก็ทำให้ขาของผมเริ่มสั่น และมันก็ทำให้ผมรู้สึกถึงผู้คนที่นั่นได้ว่า นี่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่สโมสรแต่มันคือสายใยแห่งรัก เป็นเหมือนความผูกพันระหว่างแม่และลูก! มันยังเป็นเพียงครั้งเดียวของผมที่ยังคงยืนอยู่ในสนามหลังความพ่ายแพ้ในการแข่งขัน เพียงเพื่อจะซึมซับบรรยากาศของที่นั่น” ยาย่า ตูเร่ พูดถึงเกมที่ แมนฯ ซิตี้ บุกไปพ่าย นาโปลี 2-1 ในรอบแบ่งกลุ่ม แชมเปี้ยนส์ ลีก 2011-12

แต่สิ่งที่แตกต่างจากเมืองอื่นๆภายในประเทศอย่าง เจนัว, มิลาน, โรม หรือ ตูริน ก็คือ ภายใน นาโปลี จะมีสโมสรฟุตบอลหลักๆอยู่เพียงแค่แห่งเดียว จึงทำให้ไม่มีเกมดาร์บี้ที่ขึ้นชื่อในแถบนี้ หากจะมี 2 ทีมในละแวกใกล้เคียงที่ทำให้แฟนบอลของพวกเขารู้สึกมีอารมณ์ร่วมใน ดาร์บี้ เดลล่า คัมปาเนีย ก็น่าจะเป็น อเวลลิโน่ และ ซาแลร์นิตาน่า ในทางตรงกันข้าม นาโปลี กลับมีความสนิทกลมเกลียวกับบรรดากองเชียร์ของ เจนัว พวกเขายังมีสายสัมพันธ์ในเชิงบวกกับ โลโคโมทีฟ พลอฟดิฟ สโมสรจากบัลแกเรีย และยังรวมไปถึงทีมอื่นๆอีกเช่น คาตาเนีย, ปาแลร์โม่, โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์, ปารีส แซงต์-แชร์กแมง และ เซลติก